รีเซต

กสศ.โชว์นิทรรศการพลังขับเคลื่อนประเทศ รับฟังการทำงาน 4 ตัวแทน

กสศ.โชว์นิทรรศการพลังขับเคลื่อนประเทศ รับฟังการทำงาน 4 ตัวแทน
TNN ช่อง16
2 กันยายน 2563 ( 12:16 )
119

วันนี้ ( 2 ก.ย. 63 )ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการบทเรียนการพัฒนาทักษะอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน พร้อมฟังเรื่องราวจริงจากกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ชุมชนเป็นฐานขับเคลื่อนจนเกิดอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้านและชุมชน โดยมีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งงานจัดขึ้นที่ ชั้น5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เมื่อวันที่28-29 ส.ค.ที่ผ่านมา


ศ.ดร.สมพงษ์  กล่าวว่า สำหรับคนชายขอบ คนในชุมชนถือเป็นกลุ่มคนสำคัญของประเทศที่จะมาร่วมคลายล็อก คลายปัญหาของประเทศ โดยพัฒนาวัตถุดิบที่มีในชุมชนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ หลากหลาย ทั้งนี้เรามีความเชื่ออยู่ 3 สิ่ง คือ 1.เชื่อว่าชุมชนเป็นฐานสำคัญ เป็นแหล่งเรียนรู้หล่อหลอม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเชื่อมโยง ส่งต่อคนจากรุ่นสู่รุ่น ในขณะที่ กสศ.เข้าไปสนับสนุนงบประมาณแม้จะไม่มาก แต่ก็เป็นการให้โอกาสกับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้ต้องขัง ฯลฯ ที่สำคัญการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ 

2.เชื่อว่าสินค้าเหล่านี้เป็นสัมมาอาชีวะ ที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาต่อยอดผสมผสานให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ และ 3.เป็นการคืนศักดิ์ศรีของคนในชุมชนที่สามารถสร้างองค์ความรู้ กำหนดชะตาชีวิตตนเองและชุมชนได้เองจากทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่แล้ว


ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ปี 2563 มีผู้ยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐานมากว่า 700 โครงการ ผ่านการคัดเลือกจริง 130 กว่าโครงการ ซึ่งหลังจากการดำเนินการแล้วจะมีการถอดบทเรียนองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการที่ไม่ได้รับการคัดเลือกนั้นต่างล้วนมีข้อดีทั้งนั้น ขออย่าเพิ่งถอดใจเพราะการให้ทุนสนับสนุนโครงการเหล่านี้นับเป็นหัวใจของ กสศ. ดังนั้นเราจะดำเนินโครงการต่อเนื่องในปีต่อๆ ไปพร้อมหางบประมาณมาสนับสนุนมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ตรงจุดและเกิดประสิทธิภาพคุ้มค่า


"เรายืนยันเดินหน้าโครงการต่อไปเรื่อยๆ เพราะเป็นการสร้างโอกาสให้คนชายขอบ คนจน คนพิการ คนสูงอายุในชุมชน มีอาชีพ ซึ่งเป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม เป็นการเปิดโอกาสและเติมเต็มคุณภาพชีวิตของมนุษย์อย่างมหาศาลจากภูผาสู่มหานที ถ้าไม่ส่งเสริมอาชีพปัญหาสังคมจะสูงขึ้น ทั้งการขโมย ความเครียด ซึมเศร้า โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่จะสูงมากขึ้นจากเดิมที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว


นางทิพวดี ยศโสทร สตรีชาวม้งบ้านคอดยาว อ.ภูซาง จ.พะเยา ตัวแทนกลุ่มเป้าหมาย กศน. ภูซาง จ.พะเยา (ภาคเหนือ) กล่าวว่า บ้านคอดยาว จัดเป็นพื้นที่สีแดงทำให้ภาพลักษณ์ไม่ค่อยดี และไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 


ทั้งนี้ตนคนเป็นน่านมาเป็นสะใภ้ที่บ้านคอดยาว ได้สัมผัสว่าคนในชุมชนต่างคนต่างอยู่ ต่างทำมาหากิน ไม่ค่อยสนใจทำกิจกรรมร่วมกัน จะพบปะกันก็ต่อเมื่อมีการเรียกประชุมเท่านั้น คนในพื้นที่มีการศึกษาเพียง ป. 6 และม.3 เสียส่วนใหญ่เพราะค่านิยมว่าการศึกษาสูงไม่มีประโยชน์


 โดยเฉพาะผู้หญิงต้องแต่งงานมีครอบครัว กระทั่งได้รวมกลุ่มเล่นกีฬาวอลเล่ย์บอล พอแข่งขันชนะก็ถูกเลือกให้เป็นประธานกลุ่มแม่บ้าน และเริ่มพูดคุยถึงการหารายได้เสริมจากการทำเกษตร จึงร่วมกับสมาชิกที่เล่นกีฬาด้วยกันประมาณ 5 คน หารายได้จากสิ่งที่ชุมชนมีคือผ้าเขียนเทียน ซึ่งเดิมเขียนด้วยมือ แต่ปัจจุบันใช้แม่พิมพ์ทำให้เอกลักษณ์เดิมหายไป จึงอยากอนุรักษ์ไว้เป็นจุดขายของชุมชน แต่ปัญหาคือไม่มีความรู้ทักษะฝีมือ และขาดการสนับสนุนงบประมาณ จึงไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ 


กระทั่งมี กศน.เข้ามาให้ความรู้ด้านอาชีพ และกสศ. เปิดโครงการนี้พอดีจึงได้ทำโครงการอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์ อาทิ ผู้พิการ ผู้ว่างงาน กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ฯลฯ ทั้งนี้ปัจจุบันมีการพัฒนามาเรื่อยๆ โดยนำจุดเด่นมารวมกันเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และเปิดตลาดออนไลน์ ขยายฐานลูกค้าโดยไม่ต้องมีหน้าร้าน ปัจจุบันได้รับความสนใจจากทั้งคนไทย คนต่างชาติ และที่สำคัญเกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชนมากขึ้น และมีมุมมองเรื่องการศึกษาใหม่มากขึ้น” นางทิพวดี กล่าว 


ขณะที่ นายธีระธาดา รสเจริญ ตัวแทนกลุ่มเป้าหมายของสถานพินิจนครศรีธรรมราช (ภาคใต้) กล่าวว่า ตนเคยเป็นเด็กที่เรียนดี แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นอยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง ก็เริ่มเกเร หนีพ่อ แม่ ไปเที่ยว โดดเรียน และติดยาเสพติดอย่างหนักจนถูกให้ออกจากโรงเรียน และพอเรียนจบม. 3 ก็บอกพ่อว่าไม่ขอเรียนต่อ จะขอทำงาน แต่พ่อต่อรองพบกันครึ่งทางคือขอให้เรียน กศน. แทน ซึ่งก็รับปากไปจากนั้นทั้งเรียน กศน.และทำงานไปด้วย เมื่อมีเงินแล้ว และยังคบเพื่อนกลุ่มเดิม ติดยาหนักขึ้น และถูกจับ ต้องส่งตัวไปอยู่สถานพินิจ ระหว่างรอส่งตัวก็คิดว่าชีวิตคงจบสิ้นไปเพียงเท่านี้ แต่ระหว่างที่อยู่ภายในสถานพินิจมีการเรียน มีการฝึกอาชีพ หลายโครงการ ด้วยพื้นฐานที่เรียนดีอยู่แล้วจึงพัฒนาได้เร็วกว่าคนอื่นๆ และเคยออกไปแข่งขันเห็นโลกภายนอกอีกครั้งในเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้ตนคิดถึงการมีอิสรภาพอีกครั้ง และพอมีโครงการฝึกช่างกระเบื้อง


ซึ่งเป็นงานที่ตนไม่ชอบและต่อต้าน มีการหนีเรียน ไม่เปิดรับ จนเกิดปัญหาโดยรวมกับเพื่อนๆ ทำให้ครูเรียกไปคุยแนะนำให้เห็นข้อดีต่างๆ จึงเริ่มเปิดใจและสามารถทำได้ดี มีความสุขกับงานนี้จนลืมไปว่าเคยไม่ชอบ เมื่อได้รับการปล่อยตัวจึงคิดกลับไปเรียนต่อ แต่ก็กังวลว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป จะไหวหรือไม่ กลายเป็นการสบประมาทตัวเอง แต่เมื่อคิดถึงโครงการช่างกระเบื้องขนาดเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบยังทำได้ดี ดังนั้นการเรียนซึ่งเราเคยทำได้ดีมาก่อนครั้งนี้ทำไมจะเริ่มต้นใหม่ไม่ได้


“ผมขอฝากเยาวชนว่าถ้าคิดว่าเป็นเพราะเพื่อน สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นมูลเหตุให้เราหลงผิด ส่วนหนึ่งก็อาจจะใช่ แต่สุดท้ายสิ่งที่มีผลต่อตัวเรา มีผลต่อการดำเนินชีวิต ต่อการยืนและการเดินไปข้างหน้าของเรา จริงๆ ขึ้นอยู่กับใจของเรา ถ้าใจเราบอกว่าไม่ก็คือไม่ เอาก็คือเอา ดังนั้นจงยืนให้เป็น เดินอย่างมีสติ ก้าวต่อไปอย่างมีสติ และขอบคุณสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอบคุณโอกาสจาก กสศ. ที่ทำให้ผมได้เรียนในโครงการนี้ และนำมาต่อยอด ถ้าไม่มีโครงการดีๆ ที่มอบโอกาสให้กับผม ก็คงไม่มีตัวผมในวันนี้” นายธีระธาดา กล่าว


ขณะที่ นางสาวส่งศรี ต๊ะปัญญา ตัวแทนกลุ่มเป้าหมายวิทยาลัยชุมชนตาก (ภาคกลาง) กล่าวว่า เนื่องจากตนมีปัญหาเรื่องการพูด จึงกังวลมากในเรื่องต่างๆ แต่ก็อยากมีงานทำ โดยตนสนใจเรื่องการนวด และได้รับโอกาสในการฝึกอาชีพนวด โดยมีครูและเพื่อนๆ คอยช่วยเหลือ ตอนนี้สามารถเป็นผู้ประกอบอาชีพนวดได้ พอติดโควิด-19 ก็กลับมารับนวดที่บ้าน มีรายได้วันละ 100-200 บาท ตอนนี้อยากอบรมการนวดเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาอาชีพ ทั้งนี้ขอขอบคุณ กสศ. ที่สนับสนุนโครงการ และขอบคุณเพื่อนๆ และอาจารย์ที่ช่วยเหลือ


นางสาวสาย คัดชาญ ตัวแทนกลุ่มเป้าหมายศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย (ภาคเหนือ) กล่าวว่า อำเภอลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะปี 2561-2562 ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ทำให้เป็นหนี้เป็นสิน และกระทั่งมีกลุ่มธนาคารหมู่บ้านเข้ามาชวนอบรมร่วมกับกลุ่มอีโต้น้อย และชาวบ้านอีก 5-6 หมู่บ้าน ทำการอบรม และศึกษาดูงาน จุดประกายแนวคิด แม้จะชะงักจากการระบาดโควิด-19 และลองผิดลองถูกตอนนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ มีงานทำ มีการปลูกพืชหลายชนิดที่สามารถเลี้ยงชีพและคนในชุมชนได้






เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline


ข่าวที่เกี่ยวข้อง