รีเซต

กสศ.ร่วมกทม.ยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน

กสศ.ร่วมกทม.ยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน
TNN ช่อง16
22 กันยายน 2563 ( 19:33 )
105

​เมื่อวันอังคารที่ 22 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุมบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ร่วมพิธีเปิด “โครงการการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัย และเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร”


​พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า กทม. มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนจำนวน 292 ศูนย์ มีเด็กจำนวน 22,713 คน แต่ปัจจุบันการจัดบริการสาธารณะเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนเปราะบาง หรือที่มีความต้องการพิเศษยังขาดกลไกและบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางวิชาการมาช่วยเหลือ ดังนั้น สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนิน “โครงการการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร” เพื่อพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับศักยภาพของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร ให้มีขีดความสามารถในการดูแล ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่ยากจนและมีภาวะยากลำบากให้ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป ​


นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. จัดตั้งขึ้นตามเจตนารมย์ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องการให้ กสศ. เป็นหนึ่งในกลไกปฏิรูประบบการศึกษาที่มีขนาดองค์กรไม่ใหญ่ เน้นทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึงวางนโยบายให้ กสศ. มุ่งพัฒนาตัวแบบปฏิรูป หรือนวัตกรรมการจัดการที่มีประสิทธิภาพสูง สนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรหลักในระบบการศึกษา เพื่อใช้สนับสนุนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของรัฐบาล และส่งต่อให้หน่วยงานรับผิดชอบหลักนำไปขยายผลเกิดความยั่งยืน


เช่น ในช่วงปี 2562 กสศ. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่ยากจนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อยู่ในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีเป้าหมายเพื่อให้จังหวัดมีขีดความสามารถที่จะดำเนินการปฏิรูปการศึกษาหรือจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนได้เองในระยะยาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาความเข้มแข็งของกลไกความร่วมมือจัดการศึกษาของจังหวัด (2) พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการวางแผนและติดตามช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเป็นรายบุคคล และ (3) ดำเนินมาตรการเพื่อติดตามช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย โดย กสศ. ได้สนับสนุนการดำเนินงานในจังหวัดนำร่อง จำนวน 20 จังหวัด กระจายอยู่ทุกภูมิภาค


​ในปี 2563 กสศ. ได้กำหนดนโยบายขยายการช่วยเหลือไปยังเด็กปฐมวัยที่ยากจนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยให้ความสำคัญกับการค้นหา คัดกรอง และนำเด็กกลุ่มดังกล่าวกลับเข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร จะช่วยเตรียมความพร้อมและลดอัตราการไม่เข้าศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้เป็นอย่างมาก


​ดังนั้น กสศ. จึงได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว จัดทำ “โครงการการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร” ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการสำรวจ ค้นหา คัดกรอง และให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาอุปสรรคในการเข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของครอบครัวยากจน ทั้งที่มีเด็กปฐมวัยที่กำลังรับบริการอยู่ หรือยังไม่ได้เข้ารับบริการ (เด็กปฐมวัยนอกระบบการศึกษา) ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของผู้ดูแลเด็กรวมถึงการพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ


​ผลลัพธ์จากการดำเนินงานของโครงการ จะช่วยส่งเสริมให้เด็กก่อนวัยเรียนในกรุงเทพมหานคร ได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนต่อในระดับประถมศึกษา สนับสนุนให้มีอัตราการเรียนต่อในระดับประถมศึกษาเพิ่มมากขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพอีกด้วย รวมทั้งได้แนวทางการทำงานร่วมกับชุมชน และครอบครัวผู้ดูแลเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และเด็กปฐมวัยนอกระบบ ในเขตกรุงเทพมหานคร


​“ พื้นที่ กทม. มีเด็กยากจน ช่วงปฐมวัย 13,000 คน ยังไม่ได้รับการศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน อันนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ กสศ. อยากชวนให้หาเด็กกลุ่มนี้ให้เจอ เรามีเครื่องมือที่จะใช้คัดกรองน้องๆ เป็นรายบุคคล เพื่อดูสภาพปัญหาและแนวทางช่วยเหลือ ส่วนครูในศูนย์พัฒนาเด็ก กสศ. อยากให้ได้รับการพัฒนาทักษะ เรื่องการเรียนการสอน การดูแลเด็กโดยเฉพาะกลุ่มที่ยากลำบาก 


ซึ่งต่างจากการดูแลเด็กที่มีความพร้อมมากกว่า ทางสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มีเครื่องมือในการที่จะชวนคุณครูมาพัฒนาการเรียนการสอน ไปสู่น้องๆ เพื่อให้เป็นหน่วยจัดการศึกษาที่เด็กๆ อยากมาเรียน สนุกกับการมาเรียน สามารถดูแลเด็กได้อย่างเต็มที่ เราเชื่อว่าครูจะสนุกกับวิธีการและเครื่องมือ อยากให้มั่นใจว่าเครื่องมือได้ผ่านการพัฒนามาแล้ว แต่ก็ยังต้องได้รับการพัฒนาต่อเนื่องให้เหมาะสมกับบริบท ความเข้มข้นของปัญหา เพื่อที่จะขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ




อย่างไรก็ตามเมื่อเราทำงานช่วงนี้ผ่าน กสศ. อยากเห็นเด็กมาเรียนได้ในทุกๆ วัน ได้รับการดูแลตามสมควร และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เด็กเล็ก ช่วงอายุ 3-5 ปี สามารถไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เด็กที่ยังไม่ได้เรียน ได้รับโอกาสทางการศึกษา 10 ปีต่อจากนี้ จะไม่เห็นเด็กต้องกลายเป็นเยาวชนนอกระบบการศึกษา แต่จะเป็นกำลังคนที่มีคุณค่าของประเทศต่อไป ” นายพัฒนะพงษ์ กล่าว


​นายพัฒนะพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลเด็กปฐมวัยเป็นต้นทางที่จะลดจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาในอนาคตได้ เพราะหากเราปล่อยให้เด็กหลุดออกจากระบบกลางคัน โจทย์มันจะยากกว่า เพราะหากบาดแผลเกิดขึ้นกับเด็กแล้ว การที่จะไปชวนเด็กให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือแม้แต่การเติมทักษะชีวิตหรือทักษะอาชีพ เป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนกว่า สิ่งที่เราทำเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด


รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปี 2561 – 2562 สถาบันได้ทำการศึกษากลุ่มเด็กยากจน 458 ครอบครัวในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3 จังหวัด พบว่า กลุ่มเด็กยากจนขาดแคลนที่มีภาวะวิกฤตครอบครัว ร้อยละ 53.5 มีการแตกแยกหย่าร้างของพ่อแม่ ร้อยละ 25.3 มีความรุนแรงในครอบครัว ร้อยละ 14 ผู้เลี้ยงดู มีการใช้สารเสพติด ร้อยละ 69 ได้รับการดูแลที่ไม่บรรลุผลสุขภาวะ ร้อยละ 24 มีพัฒนาการล่าช้า ร้อยละ 9 มีพัฒนาการล่าช้ามาก จึงได้ผลักดันนโยบายการคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยงสูงและรูปแบบการเยี่ยมบ้านโดยทีมบูรณาการเพื่อแก้ปัญหากลุ่มเด็กยากจน โดยมีศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนเป็นจุดเชื่อมโยงทีมบูรณาการในพื้นที่


ซึ่งโครงการการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร” เพื่อยกระดับการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ยากจนและมีภาวะวิกฤตครอบครัว โดยใช้ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชน (ศพด.) ที่อยู่ในการสนับสนุนของกรุงเทพมหานคร เป็นฐานสำคัญในการนำการช่วยเหลือและส่งเสริมพัฒนาการกลุ่มเด็กปฐมวัยยากจนในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ไม่น้อยกว่า 10,000 คน และเด็กปฐมวัยนอกระบบ ไม่น้อยกว่า 1,000 คน และอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร จะได้รับการพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการช่วยเหลือและส่งเสริมพัฒนาการกลุ่มเด็กยากจนที่มีภาวะความยากลำบาก แนวทางการทำงานที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการขยายผลในเมืองต่างๆ ต่อไป


​ทั้งนี้ทางโครงการมีระยะเวลาการดำเนินงาน 1 ปีตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 – สิงหาคม 2564 มีแนวทางการดำเนินงานดั้งนี้ 1.พัฒนาเครื่องมือคัดกรองเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนขาดแคลนและมีภาวะวิกฤตครอบครัว และนำมาให้ครูและผู้ดูแลเด็กของศพด.ใช้ในการคัดกรองเด็ก ทั้งเด็กปฐมวัยในระบบและนอกระบบ

 

2. จัดการอุดหนุนงบประมาณแก่เด็กปฐมวัยยากจนที่มีความเสี่ยงสูงในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเพื่อบรรเทาอุปสรรคในการเรียน และผลกระทบจากภัยการระบาด Covid-19 


3. สนับสนุนวิชาการเพื่อการพัฒนาคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ให้สามารถออกแบบกระบวนการและให้การดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยยากจนที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ โดยจัดการฝึกอบรม ให้คำปรึกษา เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อเนื่อง และการสนับสนุนทรัพยากร เครื่องมือ สำหรับครูและผู้ดูแลเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 


4. สนับสนุนวิชาการเพื่อการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนให้มีกระบวนการทำงานกับครอบครัวยากจนที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งการเยี่ยมบ้านร่วมกับทีมบูรณาการด้านสุขภาพและการคุ้มครองเด็ก และการส่งต่อข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานวิชาชีพที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือเด็กในครอบครัวยากจนที่มีความเสี่ยงสูง 5. อุดหนุนงบประมาณแก่ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อดำเนินการข้อ 3 - 4 แก่เด็กปฐมวัยยากจนที่มีความเสี่ยงสูง


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline



ข่าวที่เกี่ยวข้อง