รีเซต

หมอโอภาสแจงนิยามโรคติดต่อ 4 อย่าง ชี้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นต้องคาดเดาสายพันธุ์ได้

หมอโอภาสแจงนิยามโรคติดต่อ 4 อย่าง ชี้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นต้องคาดเดาสายพันธุ์ได้
มติชน
31 มกราคม 2565 ( 16:38 )
73

เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงอัพเดตสถานการณ์และมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ว่า นิยามแต่ละอย่างจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยนิยามที่ใช้มี 2 แบบ คือ นิยามตามกฎหมาย อย่างนิยามตามมาตรา 4 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กำหนดนิยาม 4 อย่าง ดังนี้ โรคติดต่อ โรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และโรคระบาด

 

“หลายอันเป็นนิยามเอาไว้ใช้ในการควบคุมโรค มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ จัดระบบเฝ้าระวัง ซึ่งแตกต่างนิยามทางสาธารณสุข ทางการแพทย์ และทางระบาดวิทยา แต่หลายอันใกล้เคียงกัน เช่น โรคติดต่อ หมายถึงโรคที่เกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรค ซึ่งสามารถแพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมมาสู่คน บางครั้งโรคติดต่อและโรคติดเชื้อ ความหมายใกล้เคียงกัน แต่โรคติดต่อเน้นกระบวนการติดต่อ ยกตัวอย่าง โรคเอดส์ เป็นโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ ติดจากคนสู่คนโดยตรง แต่โรคไข้เลือดออกเดงกี่ มียุงลายเป็นพาหะไปสู่คน เป็นโรคติดต่อทางอ้อม” นพ.โอภาส กล่าว

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคติดต่ออันตราย ทางการแพทย์และสาธารณสุขไม่มีเขียนไว้ แต่ต้องเขียนทางกฎหมายเพื่อมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ โดยหลักการโรคติดต่ออันตราย คือ เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง อัตราเสียชีวิตค่อนข้างมาก และแพร่ไปสู่ผู้อื่นอย่างรวดเร็ว ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ กำหนดโรคติดต่ออันตราย มี 18 โรค เช่น กาฬโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง โรคติดเชื้อไวรัสนิปปาห์ อีโบลา โควิด-19 ฯลฯ

 

“หลายโรคเราไม่รู้จัก เพราะมีประเทศอื่น แต่เราต้องกำหนดเพื่อป้องกันโรค เป็นต้น ส่วนโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นโรคที่ความรุนแรงน้อยกว่าโรคติดต่ออันตราย แต่มีโอกาสที่หากระบาดจะเป็นไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งพบในบ้านเราแล้ว แต่ต้องมีระบบติดตาม หากมีความผิดปกติจะได้มีมาตรการแจ้งเตือน ซึ่งขณะนี้โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังมี 55 โรค เช่น ไข้เลือดออกเดงกี่ มีในไทยอัตราเสียชีวิตพอสมควร และบางครั้งก็เกิดระบาดรุนแรง จึงต้องจัดระบบเฝ้าระวัง อีกอย่างคือ โรคเอดส์

 

ส่วนโรคระบาด หมายถึงโรคที่รู้ชัดๆ อาจเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง หรือโรคติดต่อทั่วไป หรือโรคที่เรายังไม่รู้สาเหตุแน่ชัด แต่มีผู้ป่วยเพิ่มอย่างรวดเร็วผิดปกติอย่างที่เคยเป็นไปมา จึงจำเป็นต้องมีการประกาศ เพื่อให้มีมาตรการจำกัดพื้นที่ จำกัดการเดินทาง ไม่ให้มีการทำกิจกรรมบางอย่าง หรือสั่งการฉีดวัคซีน โดยโรคระบาดจะประกาศเป็นครั้งๆไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น หากกลางปีมีเหตุการณ์ไข้เลือดออกระบาดขึ้น ก็ต้องประกาศอาการในพื้นที่ไหน เดือนไหน เพื่อให้เป็นเขตโรคระบาด และเกิดมาตรการป้องกันโรคเฉพาะพื้นที่” นพ.โอภาส กล่าว

 

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อีกประการหนึ่งคำว่า โรคติดต่ออุบัติใหม่ คือโรคใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 30 ปี และมีการพบเกิดขึ้นครั้งใหม่ๆ ยกตัวอย่าง ไข้เลือดออก เข้าประเทศไทยครั้งแรกปี 2500 ขณะนั้นเป็นโรคระบาดใหม่ แต่เมื่อระบาดมานานก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น อีกอย่าง คือ โรคเอชไอวี/เอดส์ ระบาดเมื่อปี 2527 วันนี้ผ่านไป 40 ปี จึงกลายเป็นโรคปกติ จัดนิยามเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เป็นต้น

 

“สำหรับนิยามทางระบาดวิทยา เพื่อนักการสาธารณสุข นักระบาดวิทยาจะได้สื่อสารได้ตรงกัน โดยมี 3 คำหลักๆ คือ Pandemic มีการระบาดใหญ่ทั่วโลก มีการข้ามพรมแพนระบาดหลายประเทศข้ามทวีป ตัวอย่างชัดเจนคือ โควิด-19 มีการระบาดอย่างกว้างขวาง ส่วนคำว่าโรคระบาด หรือ Epidemic เป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดรวดเร็ว เพียงแต่ขอบเขตจะเล็กกว่า Pandemic ส่วนอีกคำคือ โรคประจำถิ่น หรือเรียกว่า Endemic คือการที่มีโรคระบาดในพื้นที่แต่อาจจำกัดในเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์ หรือการกระจายและการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่สามารถคาดการณ์ได้” นพ.โอภาส กล่าว

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า สรุปคำว่าโรคประจำถิ่น ต้องมีการติดเชื้อที่ค่อนข้างคงที่ การติดเชื้ดคาดเดาได้ และสายพันธุ์ไม่เปลี่ยนแปลงมาก อาการรุนแรงไม่มาก ส่วนที่หลายคนถามว่า โรคโควิด-19 ต่อไปจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้มีการระบาดกว้างขวางมากว่า 2 ปี ซึ่งระยะการระบาดใหญ่ทั่วโลกมี 3 ระยะ คือ 1. Pre-Pandemic ก่อนระบาดทั่วโลก 2. Pandemic มีการระบาดทั่วโลกกินเวลาสั้นๆ 1-2 ปี หรือหลายปี และ 3. Post-Pandemic เข้าสู่โรคประจำถิ่น หรือโรคติดต่อทั่วไป เมื่อมีจุดสูงสุดก็ต้องลงมาสักวันหนึ่ง

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า คำว่า Pre-Pandemic ทางองค์การอนามัยโลกระบุขั้นตอน 5-6 ขั้นตอน ขั้นตอนหนึ่งคือ เจอไวรัสตัวใหม่ อาจมาจากสัตว์และมาเจอในคน จากนั้นก็ติดต่อคนสู่คนจากทางเดินหายใจ ระบาดกว้างขวาง ตัวอย่างโควิด-19 เห็นชัด อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่โควิด-19 มา 2 ปี หลังจากระบาดใหญ่ ทิศทางจะเป็นอย่างไร ก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคติดต่อทั่วไปนั่นเอง ซึ่งทิศทางการจัดการก็จะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกัน

 

“ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า เมื่อไรจะผ่าน Pandemic หรือเป็น Post-Pandemic แต่คิดว่าภายในปีนี้น่าจะจัดการให้ผ่านพ้นการระบาดใหญ่ได้ ด้วยเหตุผล คือ คนทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 1 หมื่นล้านโดส โดยประเทศไทยฉีดไปเกิน 115 ล้านโดส หรือคนไทยได้รับอย่างน้อย 2 เข็ม และอีกประการคือ ไวรัสกลายพันธุ์ ล่าสุดเป็นเชื้อโอมิครอน แม้ระบาดเร็วแต่ความรุนแรงน้อยลง ดังนั้น เมื่อสถานการณ์คงที่ก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ไม่ได้แปลว่าจะเปลี่ยนเลย โดยคาดการณ์ว่าภายในปีนี้ แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่ระยะเวลาเหมาะสม การควบคุมสถานการณ์ให้คงที่ ความร่วมมือของประชาชน และปัจจัยอื่นๆ” นพ.โอภาส กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง