นาซาปล่อยภาพ ‘กระจุกดาวต้นคริสต์มาส’ ของขวัญจากห้วงอวกาศ
นาซาปล่อยภาพ ‘กระจุกดาวต้นคริสต์มาส’ เป็นของขวัญเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่จากห้วงอวกาศ
วันนี้ ( 23 ธ.ค. 66 ) องค์การนาซาปล่อยภาพใหม่ เป็นของขวัญเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ โดยเป็นภาพ ‘กระจุกดาวต้นคริสต์มาส’ ที่คล้ายกับต้นคริสต์มาสที่ถูกประดับด้วยไฟหลากสี ไปชมภาพ กระจุกดาวนี้มีรหัสเรียกชื่อว่า NGC 2264 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “กระจุกดาวต้นคริสต์มาส” เป็นกลุ่มดาวฤกษ์อายุน้อยที่ล้อมรอบด้วยเมฆก๊าซเนบิวลา ดาวฤกษ์ภายในกระจุกดาวนี้มีอายุระหว่าง 1 ล้านถึง 5 ล้านปี และมีขนาดแตกต่างกัน บางดวงเล็กกว่าและบางดวงใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเรา
ภาพนี้ถูกถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราของนาซา กล้องโทรทรรศน์นี้เป็นดาวเทียมที่มีอุปกรณ์ตรวจจับ สามารถตรวจจับรังสีเอ็กซ์ได้ จึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการศึกษารังสีเอ็กซ์ในห้วงอวกาศ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศโดยยาน STS-93 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1999
ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา ถ่ายภาพปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในเอกภพได้มากมาย และมีส่วนในการปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับเอกภพของนักดาราศาสตร์อย่างมาก เป็นหนึ่งในโครงการสุดยอดกล้องโทรทรรศน์ หรือ Great Observatories ของนาซา ซึ่งประกอบด้วย กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล Hubble ที่ศึกษาในช่วงแสงที่ตามองเห็น กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer) ที่ศึกษาในช่วงรังสีอินฟาเรด กล้องโทรทรรศน์อวกาศคอมป์ตัน (Compton) ที่ศึกษาในช่วงรังสีแกมมา และกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา (Chandra) ที่ศึกษาในช่วงรังสีเอ็กซ์
ข้อมูลจาก : NASA
ภาพจาก : NASA