รีเซต

10 ปี กับเอกราชของ ‘ซูดานใต้’ ที่มาพร้อมกับความไม่มั่นคง

10 ปี กับเอกราชของ ‘ซูดานใต้’ ที่มาพร้อมกับความไม่มั่นคง
TNN World
10 กรกฎาคม 2564 ( 09:19 )
138
10 ปี กับเอกราชของ ‘ซูดานใต้’ ที่มาพร้อมกับความไม่มั่นคง

Editor’s Pick: 10 ปี กับเอกราชของ ‘ซูดานใต้’ ที่มาพร้อมกับความไม่มั่นคง, วิกฤตมนุษยธรรม และการทุจริตอย่างรุนแรง



ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวซูดานใต้ร่วมกันฉลองการได้รับเอกราชครบ 10 ปี ที่ดูเหมือนการได้รับเอกราชในครั้งนั้น จะทำให้ชาวซูดานใต้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สภาพสังคมในซูดานใต้ปัจจุบัน กลับยังมีปัญหาหยั่งรากลึก

 



ความสบายใจที่แสนสั้น



ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2011 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน ความสบายใจของชาวซูดานใต้หลังจากได้รับเอกราชจากซูดาน กลับมีอายุสั้นเหลือเกิน



เพียงไม่ถึงปีครึ่งหลังได้เอกราช ซูดานใต้ซึ่งมีทรัพยากรสำรองมหาศาล กลับต้องอยู่ภายใต้สงครามกลางเมือง ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 400,000 ชีวิต



เป็นผลพวงจากสงครามกลางเมือง ประชากร 1.6 ล้านคน จากทั้งหมด 11 ล้านคน ต้องไร้ที่อยู่อาศัย และอีกกว่า 2 ล้านคน พยายามหาที่ลี้ภัยในประเทศอื่น ๆ



ทุกวันนี้ ซูดานใต้ นับเป็นประเทศยากจนที่สุดชาติหนึ่งของโลก โดยประชากร 8 ล้านคน หรือเกือบ 2 ใน 3 ต้องแบมือขอรับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม



องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF เตือนก่อนหน้านี้ว่า ซูดานใต้ กำลังเผชิญวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวรายที่สุด เด็กราว 300,000 คน ที่อายุต่ำกว่า 5 ปี กำลังอดอยากอย่างรุนแรง



ชีวิตของประชาชนยังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโครงสร้างของรัฐที่อ่อนแอ, ความยากจนขีดสุด, วิกฤตด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังมีผลพวงจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 อีกด้วย

 



 เอกราชที่มาพร้อม ‘ความขัดแย้งภายใน’



คลีเมนซ์ ปีนูด ผู้เชี่ยวชาญด้านซูดานใต้ แห่งมหาวิทยาลัยอินเดียนา เปิดเผยกับสำนักข่าว DW ว่า ความรุนแรงของชนกลุ่มน้อยที่หลากหลายในซูดานใต้ คือปัญหาใหญ่ที่สุด ของประเทศสมาชิกน้องใหม่ของสหประชาชาติ หรือ UN แห่งนี้



ปีนูด บอกว่า ระหว่างที่ซูดานใต้พยายามต่อสู้เพื่อเอกราชจากซูดาน กลุ่มดิงกา ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่สุดของซูดานใต้ ได้กลายเป็นกลุ่มที่ครอบครองดินแดนแห่งนี้ โดยมี ซัลวา คีร์ ซึ่งเป็นชาวดิงกา เป็นประธานาธิบดีนับแต่ได้เอกราช



ในปี 2013 คีร์ ได้สั่งปลดรองประธานาธิบดี รีค มาชาร์ ซึ่งมาจากกลุ่มชาติพันธุ์นูเออร์ โดยอ้างว่า มาชาร์พยายามจะโค่นตำแหน่งเขา แม้ว่าทั้ง 2 จะพยายามร่วมกันประกาศเอกราชมาก่อนก็ตาม



การสั่งปลดมาชาร์นี้เอง ที่เป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมือง, การสังหารหมู่, ข่มขืน รวมไปถึงการนำเด็กมาเป็นทหาร เพื่อสู้กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในประเทศเดียวกันนี้เอง จนกระทั่งปี 2018 ที่มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ ระหว่างคู่อริในประเทศ



 

ความรุนแรงยังไม่หมดไป



พรรคร่วมรัฐบาลซูดานใต้ ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 แต่ความรุนแรงยังคงอยู่ มีประชาชนมากกว่า 1,000 คน ถูกสังหารจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มคู่อริในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2020



รายงานจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่ง UN ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ 2021 พบว่า ยังคงมีการโจมตีใส่พลเรือน จากกลุ่มติดอาวุธ และกองกำลังที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชาติพันธุ์ภายในอย่างต่อเนื่อง



กองกำลังติดอาวุธ ยังมีการแบ่งแยกตามเชื้อชาติ และมักจะแสดงความภักดีต่อนักการเมืองบางคนที่เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน มากกว่ารัฐ

 



ผู้นำที่อ่อนแอ



ผู้สังเกตการณ์กล่าวโทษทั้ง คีร์ และ มาชาร์ ที่ต่างเล่น ‘เกมการรอคอย’ ด้วยการยื้อการบังคับใช้ข้อตกลงสันติภาพอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งยังกีดกันการจัดตั้งกลไกการเมืองใหม่ รวมทั้ง ศาลอาชญากรรมสงคราม ที่เป็นความร่วมมือกับสหภาพแอฟริกา หรือ AU



ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองเห็นความหวังเพียงน้อยนิดในซูดานใต้ ตราบใดที่ยังมีนักการเมืองเหล่านี้อยู่ในอำนาจ



แอนดรูวส์ แอตตา-อาซาโมห์ นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันการศึกษาเพื่อความมั่นคงแห่งแอฟริกาใต้ บอกว่า คุณควรให้พื้นที่แก่กลุ่มผู้นำกลุ่มใหม่ ที่จะสะท้อนความคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับความจริง และความหลากหลายในซูดานใต้ หลังจากที่เกิดความขัดแย้งมาเนิ่นนาน

 



คอร์รัปชันมหาศาล กัดกินสังคมไม่จบสิ้น



ไม่เพียงแต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไปทั่วประเทศ การคอร์รัปชันในรัฐบาลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ฉุดความเจริญของซูดานใต้เช่นกัน



UN เปิดเผยรายงานที่พบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนร่วมในการปล้นกองทุนสาธารณะ เช่นเดียวกับการฟอกเงิน, การติดสินบน และการหลีกเลี่ยงภาษี



เมื่อเวลาผ่านไป การทุจริตมหาศาลนี้ ทำให้ทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจและทุกสถาบันของรัฐ ก็ติดเชื้อทุจริตกันไปหมด



สิ่งเหล่านี้เอง ที่ล้วนแต่เติมเชื้อเพลิงให้การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ในซูดานใต้ ยิ่งดำดิ่งลงไปอย่างหนัก

 



นานาชาติแทบไม่เหลียวแล



แม้จะมีปัญหามากมายเกิดในประเทศ แต่ซูดานใต้กลับได้รับความเหลียวแลจากนานาชาติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น



แอตตา-อาซาโมห์ บอกว่า สาเหตุเป็นเพราะประชาคมโลกเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับซูดานใต้ที่เปลี่ยนจากปัญหาหนึ่ง ไปอีกปัญหาหนึ่ง อย่างไม่มีวันจบสิ้น



แม้แรงกดดันภายนอกจะมีความสำคัญ แต่ท้ายที่สุด ความขัดแย้งภายในซูดานใต้เอง ก็ควรจะต้องแก้จากตัวละครภายในของประเทศ ที่ต้องให้ความร่วมมือกันเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง