คมนาคมเล็งเว้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าBEV 5 ปี ส่งเสริมการใช้ - จี้รถไฟเร่งเปลี่ยนระบบเชื้อเพลิงเป็นแบตเตอร์รี่ไฟฟ้า

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการพัฒนายานยนต์ด้วยพลังงานไฟฟ้า เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นำเสนอการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ทั้งทางถนน ทางราง และทาน้ำ เพื่อเร่งลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยมลพิษซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เบื้องต้นสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ โดยมอบให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เร่งรัดดำเนินการเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนวิธีการคิดอัตราภาษีรถยนต์โดยส่งเสริมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น 1. กำหนดอัตราภาษีให้เหมาะสมตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และขนาดของเครื่องยนต์ (cc) 2. ยกเว้นภาษีประจำปี 3-5 ปีแรก สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV)
มอบให้กรมเจ้าท่า (จท.) พัฒนาและส่งเสริมการใช้เรือไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยให้ครอบคลุมทั้งมิติการขนส่งมวลชนและการท่องเที่ยว ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือและขับเคลื่อนไปพร้อมกับภาคเอกชน เพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งศึกษาและรวบรวมข้อกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้อง ตามหลักธรรมาภิบาล
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งรัดดำเนินการในการนำระบบ EV พลังงาน Battery on Train มาใช้กับรถไฟไทย รวมทั้งศึกษาและรวบรวมข้อกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้อง ตามหลักธรรมาภิบาล
และมอบสนข. ประสานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน ในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า โดยเบื้องต้นให้ประสานกระทรวงพลังงาน ในการเตรียมความพร้อมและสำรวจปริมาณความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ เพื่อรองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ด้วย
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สนข. ได้นำเสนอสถานการณ์พลังงานของไทย ช่วงปี 2539-2562 พบว่า มีแนวโน้มในการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาขนส่งและสาขาอุตสาหกรรม เฉพาะภาคขนส่ง มีสัดส่วนการใช้น้ำมันสำเร็จรูป 94.8%, ก๊าซธรรมชาติ 5.09% และไฟฟ้าเพียง 0.059%
ส่วนสถานการณ์ด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น สาขาขนส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นอันดับ 2 รองจากสาขาอุตสาหกรรมพลังงาน โดยการขนส่งทางถนนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 98% รองลงมาคือ การขนส่งทางอากาศ ทางน้ำ และทางราง ตามลำดับ ส่วนปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล พบว่า สัดส่วนฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากไอเสียดีเซลและการเผาชีวะมวล
สำหรับรถที่คาดว่าจะสามารถพัฒนาเป็นรถไฟฟ้าได้ก่อนคือรถโดยสารระหว่างเมืองระยะทางวิ่งประมาณ 200-250 กม./เที่ยว และรถโดยสารสาธารณะในเมือง และควรมีมาตรการผลักดันและช่วยเหลือจากภาครัฐตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วย
1) การส่งเสริมการลงทุนให้ผู้ประกอบการแบตเตอรี่ ผลิตชิ้นส่วน และประกอบรถโดยสารไฟฟ้าผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
2) ยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตของเซลล์แบตเตอรี่ ให้ผู้ประกอบการผลิตแบตเตอรี่ที่ได้รับการส่งเสริมผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
3) กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าคงที่สำหรับรถโดยสารไฟฟ้า
4) การสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการตามสัดส่วนมูลค่าการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เหมาะสม
5) การเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐาน กฎ ระเบียบ
บทความน่าสนใจอื่นๆ
