อากาศร้อนเป็นภัยกว่าที่คิด เสี่ยงทำอุณหภูมิร่างกายปรับตัวไม่ได้
ในช่วงที่อุณหภูมิร้อนระอุ หลายคนตั้งคำถามว่า “ร้อนขนาดไหนถึงจะถือว่าร้อนเกินไป สำหรับดำเนินกิจวัตรประจำวัน” คำตอบมีมากกว่าอุณหภูมิที่ปรากฏบนเทอร์โมมิเตอร์ และเกี่ยวกับความชื้นในอากาศ โดยผลการวิจัยชี้ว่า การรวมกันของทั้งสองสิ่ง สามารถเป็นอันตรายได้มากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดคิด
สำนักข่าว Channel News Asia รายงานว่า คลื่นความร้อนที่สะสมความร้อนมากเกินไป ทำให้คนจำนวนมากต้องทนกับอุณหภูมิร่างกายที่ไม่สามารถเย็นลงเองได้ ทั้งยังมีแนวโน้มทำให้ผู้คนเป็นโรคลมแดดมากขึ้น
---คลื่นความร้อนที่โลกต้องเผชิญ---
บรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้สังเกตการณ์ ต่างตื่นตระหนกกับความร้อนและความชื้นที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ถูกวัดด้วย "อุณหภูมิกระเปาะเปียก" หรือ Wet Blub Temperature
เดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่คลื่นความร้อนพัดปกคลุมเอเชียใต้ เมืองจาโคบาบัด ในปากีสถาน รายงานอุณหภูมิกระเปาะเปียกสูงสุดอยู่ที่ 33.6 องศาเซลเซียส และกรุงเดลี ในอินเดียมีอุณหภูมิสูงสุด ซึ่งใกล้เคียงกับขีดจำกัดสูงสุด ตามทฤษฎีความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์ที่มีต่อความร้อนชื้น
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน 2010 ประมาณการว่า อุณหภูมิกระเปาะเปียกที่ 35 องศาเซลเซียส และความชื้น 100% หรือ อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส และความชื้น 50% จะเป็นขีดจำกัดสูงสุดของความปลอดภัย ซึ่งเกินกว่าที่ร่างกายมนุษย์จะสามารถเย็นตัวได้เองโดยธรรมชาติผ่านเหงื่อ เพื่อรักษาอุณหภูมิภายในให้คงที่
แต่ไม่นานมานี้ ขีดจำกัดดังกล่าวได้รับการทดสอบกับมนุษย์ในห้องปฏิบัติการ และผลการทดสอบแสดงให้เห็นถึงสาเหตุที่น่าเป็นห่วงมากกว่าเดิม
---ร้อนแค่ไหน ร่างกายถึงรับไม่ไหว---
ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต พบว่า คลื่นความร้อนที่สะสมความร้อนมากเกินไป ซึ่งเกิดจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จะเกิดยาวนานขึ้น บ่อยครั้งขึ้น และร้อนขึ้นเรื่อย ๆ
เพื่อตอบคำถามที่ว่า “ร้อนแค่ไหน ถึงจะร้อนเกินไป” นักวิจัยได้นำคนวัยหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรง ไปยังห้องทดลองนอลล์ มหาวิทยาลัยเพนน์สเตต เพื่อสัมผัสกับภาวะความเครียดจากความร้อนในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้
การทดลองครั้งนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกว่า การรวมกันของอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ เริ่มก่อให้เกิดอันตราย แม้แต่กับมนุษย์ที่มีสุขภาพดีที่สุด
---อันตรายจากอุณหภูมิและความชื้น---
ผู้เข้าร่วมต้องกลืนยา Telemetry ขนาดเล็ก เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิแกน หรือ Core Temperature โดยนั่งอยู่ในที่ร่มและจำลองกิจวัตรประจำวัน เช่น การทำอาหาร และรับประทานอาหาร โดยนักวิจัยจะค่อย ๆ เพิ่มอุณหภูมิหรือความชื้นในห้องทดสอบ และคอยตรวจสอบเมื่ออุณหภูมิแกนของร่างกายเริ่มสูงขึ้น
การรวมกันของอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งทำให้อุณหภูมิแกนหรืออุณหภูมิในส่วนลึกของร่างกายสูงขึ้น เรียกว่า “ขีดจำกัดสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ” หรือ Critical environmental limit
หากต่ำกว่าขีดจำกัด ร่างกายจะสามารถรักษาอุณหภูมิแกนที่ค่อนข้างคงที่ได้ตลอด แต่หากเกินขีดจำกัดดังกล่าว อุณหภูมิแกนจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บป่วยก็จะสูงตามไปด้วย
เมื่อร่างกายมีความร้อนสูงเกินไป การสูบฉีดเลือดไปยังผิวหนังเพื่อระบายความร้อน จะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ปริมาณของเหลวในร่างกายจะลดลงหากมีเหงื่อออกร่วมด้วย กรณีร้ายแรงที่สุด หากได้รับความร้อนเป็นเวลานาน อาจทำให้เป็นโรคลมแดด หรือ Heatstroke ได้
---ปรับตัวอย่างไรให้ปลอดภัย---
การดูแลร่างกายไม่ให้ขาดน้ำ และอยู่ในที่ร่ม เป็นสิ่งสำคัญมากในสถานการณ์ที่มีความร้อนสูง
เมืองต่าง ๆ ในสหรัฐฯ กำลังขยายศูนย์ทำความเย็น เพื่อช่วยผู้คนให้พ้นจากความร้อน แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่จะประสบกับสภาวะอันตรายเหล่านี้ โดยที่ไม่อาจทำให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลงได้
แม้แต่บ้านที่มีเครื่องปรับอากาศ ก็ไม่อาจเปิดใช้ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พบได้บ่อยในฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา หรือการที่ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างจากคลื่นความร้อนหรือไฟป่า ซึ่งพบได้ทางตะวันตกของสหรัฐฯ
ขณะที่ ผลการศึกษาล่าสุดที่เน้นเรื่องภาวะความเครียดจากความร้อนในแอฟริกา พบว่า สภาพอากาศในอนาคตจะไม่เอื้อต่อการใช้ระบบทำความเย็นต้นทุนต่ำ เนื่องจากพื้นที่เขตร้อนและชายฝั่งของแอฟริกาจะมีความชื้นมากขึ้น
อาทิ พัดลมหมุนเวียนอากาศผ่านความเย็น และแผ่นเปียกลดอุณหภูมิ ซึ่งต้องการพลังงานน้อยกว่าเครื่องปรับอากาศ แต่จะใช้งานไม่ได้ หากอุณหภูมิกระเปาะเปียกสูงกว่า 21 องศาเซลเซียส
---ชาวญี่ปุ่นเผชิญโรคลมแดด---
ในญี่ปุ่น ประชากรหลายพันคนกำลังเผชิญกับโรคลมแดด จากคลื่นความร้อนที่เข้าครอบงำในหลายพื้นที่ และอุณหภูมิที่พุ่งสูงเร็วกว่าปกติ ทำให้เจ้าหน้าที่สภาพอากาศในญี่ปุ่น ประกาศสิ้นสุดฤดูฝนเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์
ขณะที่ ข้อมูลจากหน่วยงานบริหารจัดการอัคคีภัยและภัยพิบัติ พบว่า ประชาชนกว่า 10,000 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยโรคลมแดด ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ซึ่งเพิ่มขึ้นราวสองเท่าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว
ด้านกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น เรียกร้องให้ประชาชนระมัดระวังโรคลมแดด รวมถึงแนะให้ถอดหน้ากากในพื้นที่กลางแจ้ง เมื่อสามารถรักษาระยะห่างทางสังคม และพูดคุยกันไม่มากนัก แต่หลายคนคิดว่า การสวมหน้ากากอนามัยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ และยังคงสวมหน้ากาก แม้ในวันที่อากาศร้อนจัด
กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นตั้งข้อสังเกตว่า หน้ากากอนามัยสามารถเก็บความร้อนได้ จึงอาจทำให้ร่างกายควบคุมอุณหภูมิได้ยาก และอาจขาดน้ำโดยไม่รู้ตัว
จากทั้งหมดที่กล่าวมา ยังคงมีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นเพียงปัญหาสำหรับอนาคต แต่เป็นสิ่งที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ และจะต้องจัดการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาก่อนจะสายเกินแก้
————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters