รีเซต

สธ. เปิดสูตรฉีดวัคซีนโควิด ม.ค.65 และเข็มกระตุ้น ย้ำฉีดเข็ม 4 เร็วเกินไม่มีประโยชน์

สธ. เปิดสูตรฉีดวัคซีนโควิด ม.ค.65 และเข็มกระตุ้น ย้ำฉีดเข็ม 4 เร็วเกินไม่มีประโยชน์
ข่าวสด
16 ธันวาคม 2564 ( 16:55 )
67
สธ. เปิดสูตรฉีดวัคซีนโควิด ม.ค.65 และเข็มกระตุ้น ย้ำฉีดเข็ม 4 เร็วเกินไม่มีประโยชน์

ข่าววันนี้ 16 ธ.ค.64 นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 และการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น ว่า การบริหารจัดการวัคซีนของประเทศไทย ภายใต้คำแนะนำเชิงวิชาการในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งผ่านความเห็นชอบคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา เห็นว่า การฉีดเข็มกระตุ้นนั้นจำเป็น เพื่อคงระดับภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้ จากสถานการณ์เชื้อสายพันธุ์ใหม่จึงแนะนำ คือ

 

1.ฉีดเชื้อตาย 2 เข็ม (ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม) ให้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ได้ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังเข็ม 2

 

2.แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แนะนำฉีดไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ซึ่งเดิมแนะนำ 6 เดือน ก็พิจารณาเห็นชอบร่นระยะเวลาเป็น 3 เดือนขึ้นไปหลังเข็ม 2

 

3.mRNA 2 เข็ม (ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา) แนะนำฉีดวัคซีน mRNA ในเวลา 6 เดือนขึ้นไปหลังเข็ม 2

 

4.สูตรไขว้ ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า แนะนำฉีดด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ระยะเวลาให้ร่นจาก 6 เดือนเหลือ 3 เดือนหลังจากเข็ม 2

 

5.สูตรไขว้ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม ตามด้วยไฟเซอร์ แนะนำให้ฉีดแพลตฟอร์มเดิมของเข็ม 2 คือ ไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา 3 เดือนขึ้นไปหลังเข็ม 2

 

และ 6.แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ให้กระตุ้นด้วยไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา 6 เดือนขึ้นไปหลังเข็ม 2

"ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. เพื่อบริหารจัดการวัคซีนให้เหมาะสมกับสถานกา

รณ์กับวัคซีนที่มีอยู่ในพื้นที่" นพ.วิชาญกล่าวและว่า ข้อแนะนำนี้ได้เสนอกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณา และเสนอกำหนดเป็นนโบยายจากการประชุมของ ศบค.เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา

 

เปิดสูตรฉีดวัคซีน

นพ.วิชาญ กล่าวว่า สำหรับนโยบายการบริหารจัดการวัคซีนโควิดของ สธ.เดือน ม.ค. 2565 จากมติที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) วันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา กำหนด คือ 1.ผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน ให้สามารถฉีดวัคซีนได้ทุกสูตร ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม , แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ หรือซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า กรณีอายุ 18 ปีขึ้นไป และสูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม ให้อายุ 12-17 ปีเป็นหลัก 2.ผู้มารับวัคซีนเข็มที่ 2 ให้เป็นไปตามกำหนดที่นัดหมายไว้

 

3.ผู้ที่ต้องการวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับผู้ที่ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า เมื่อ ส.ค.-ต.ค. 2564 พิจารณาฉีดเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า เป็นหลัก , ผู้รับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มช่วง ส.ค.-ต.ค. 2564 พิจารณาฉีดด้วยไฟเซอร์ และผู้ที่รับเชื้อตายครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก

 

และ 4.ผู้ที่เคยติดเชื้อและต้องการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถใช้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้นได้ในผู้ที่รับวัคซีนไม่ครบเกณฑ์หรือครบเกณฑ์น้อยกว่า 2 สัปดาห์ก่อนการติดเชื้อ โดยบริหารจัดการภายใต้วัคซีนที่จัดสรรและมีในพื้นที่

 

ขอให้โหลด 'หมอพร้อม'

นพ.วิชาญ กล่าวว่า วันนี้กระทรวงสาธารณสุขมีการประชุมผู้ดูแลระบบและเกี่ยวข้องกับระบบ "หมอพร้อม" เพื่อกำหนดแนวทางการแจ้งเตือนคนฉีดวัคซีนครบกำหนดให้มารับเข็มกระตุ้น ดังนั้น คนฉีดวัคซีนแล้วขอให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน "หมอพร้อม" และกรอกข้อมูลให้ครบ เพื่อจะได้แจ้งเตือนได้ทันเวลาและเหมาะสม

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสั่งการและแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้แจ้งเตือนการฉีดเข็มกระตุ้นด้วย จัดระบบการลงทะเบียนในพื้นที่ ทั้ง รพ.ใกล้บ้าน คิวอาร์โคด หรือแอปพลิเคชันที่หน่วยบริการกำหนด ส่วนที่รับวัคซีนผ่านศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ หรือโครงการพิเศษ ให้ลงทะเบียนตามที่โครงการกำหนด

 

นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ทุกจังหวัดให้จัดบริการฉีดวัคซีนเชิงรุก เพื่อให้ทุกกลุ่มทั้งคนไทยและไม่ใช่คนไทยเข้าถึงโดยสะดวก เน้นการฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงยาก เช่น แรงงานประมง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร แรงงานต่างด้าวตามชายแดนต่างๆ ให้ประสานผู้รับชอบหลักของแต่ละกลุ่มเป้าหมายดำเนินการ

 

ขณะที่ปลัด สธ.สั่งการ นพ.สสจ.บริหารจัดการการฉีดวัคซีนสูตรต่างๆ ภายใต้คำแนะนำทางวิชาการและจำนวนวัคซีนที่มีในพื้นที่ จัดทำแผนจำนวนที่จะขอรับการสนับสนุนวัคซีนรายเดือนไปยังกองตรวจราชการสาธารณสุข และประสานสำนักอนามัย กทม.จัดทำแผนในพื้นที่ด้วย

 

เมื่อถามย้ำถึงแนวทางการใช้หมอพร้อมแจ้งเตือนการมาฉีดเข็มกระตุ้น นพ.วิชาญ กล่าวว่า คนที่มาฉีดวัคซีนโควิดมีการเก็บข้อมูล เบอร์โทรศัพท์ ซึ่งข้อมูลจะอยู่ใน Moph IC และจะทราบว่า แต่ละเดือนมีประชาชนฉีดมาแล้วเท่าไร

 

โดยการแจ้งเตือนจะใช้แพลตฟอร์ม “หมอพร้อม” แต่หากใครเข้าไม่ถึง ปลัด สธ.ได้มอบให้ สสจ.ไปดูข้อมูลจาก Moph IC เพื่อเรียกนัดหมาย โดยหน่วยบริการฉีดต้องออกแบบกระบวนการนัดหมายให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งต่างจังหวัดดำเนินการได้ ไม่ซับซ้อน

 

แต่ใน กทม.มีความซับซ้อน เพราะมีหลายหน่วย ทั้งฉีด รพ.เอกชน หน่วยบริการต่างๆ ปลัด สธ.จึงประสานไปสำนักอนามัย กทม. เพื่อวิเคราะห์จัดทำแผนเพื่อเซตระบบแจ้งเตือน และเชิญชวนประชาชนมาฉีดตามจุดต่างๆ

 

เบื้องต้น กทม.จัดจุดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นประมาณ 6-7 จุดทั่ว กทม. ดังนั้น เรื่องระบบการแจ้งเตือนกำลังหารือ ซึ่งวันที่ 16 ธ.ค. ทีมหมอพร้อมกำลังพิจารณา คาดว่าในสัปดาห์นี้จะชัดเจนในเรื่องระบบการแจ้งเตือน

 

เมื่อถามว่ายังไม่ต้องวอล์กอินเข้าไปขอฉีดเข็มกระตุ้นใช่หรือไม่ นพ.วิชาญ กล่าวว่า ขอให้รอระบบแจ้งเตือนและนัดหมายจะดีกว่า เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องวางแผน เพื่อให้เข้าใจตรงกันทั้งระบบ เนื่องจากวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นวัคซีนที่เราต้องรู้ก่อนว่า ใครจะฉีด จะได้จัดแผนกระจายจำนวนวัคซีนอย่างถูกต้องและเหมาะสมในแต่ละเซตติ้ง การวอล์กอินไปอาจยังไม่ได้ในช่วงนี้ ระบบแจ้งเตือนน่าจะได้ข้อสรุปในสัปดาห์นี้

 

ฉีดเข็ม 4 เร็วไปไม่มีประโยชน์

เมื่อถามกรณีบางคนไปฉีดวัคซีนเข็ม 4 นพ.วิชาญ กล่าวว่า น่ากังวล เพราะมีบางคนได้เข็ม 3 แล้ว แต่รีบไปกระตุ้นเข็ม 4 ระยะห่างไม่เหมาะสม โดยห่างกันเพียง 1 เดือน กรณีนี้ฉีดเข็ม 4 ไปก็แทบไม่มีประโยชน์ เพราะเหมือนไปฉีดเข็ม 3

 

ดังนั้น ความสำคัญของการฉีดวัคซีนต้องดูระยะเวลาที่เหมาะสม ดูระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งขอบคุณอาจารย์ต่างๆ ที่ติดตามตลอด และมีคำแนะนำว่า กี่เดือนภูมิตก ต้องฉีดกระตุ้น หลักการของการฉีดวัคซีนจึงต้องฉีดวัคซีนให้เหมาะสม เร็วไปไม่ดี ช้าไปไม่ดี

 

จึงขอให้ฟังทางวิชาการเพื่อให้เกิดประโยชน์เต็มที่ สำหรับการพิจารณาเข็ม 4 จะมีคณะกรรมการฯ พิจารณาในเดือน ม.ค.2565 เพราะสูตรที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าก็ใกล้ครบระยะเวลาแล้ว และจะพิจารณาวัคซีนเด็กด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง