ประเทศจีนเตรียมส่งยานอวกาศสำรวจดาวพฤหัสบดีและดาวยูเรนัส
เทียนเหวิน 4 ภารกิจจากสวรรค์
ประเทศจีนกำลังวางแผนภารกิจเทียนเหวิน 4 (Tianwen 4) ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นภารกิจส่งยานสำรวจไปยังดาวพฤหัสบดี และส่งยานอวกาศอีกลำที่มีขนาดเล็กกว่าไปโคจรผ่าน (Flyby) ดาวยูเรนัส กล่าวก็คือ ในภารกิจนี้จะมียานสำรวจดาวพฤหัสบดีเป็นยานหลัก โดยที่ยานอวกาศทั้งสองลำจะถูกส่งไปในเที่ยวบินเดียวกัน ด้วยจรวดลอง มาร์ช 5 (Long March 5) และใช้ยานบินผ่านดาวศุกร์และยานบินผ่านโลกเหวี่ยงยานอวกาศทั้งสองลำไปยังวิถีโคจรของระบบสุริยะชั้นนอก หลังจากนั้นยานอวกาศทั้งสองลำจะแยกออกจากกัน แล้วมุ่งหน้าสู่เป้าหมายของตนเอง
ซึ่งภารกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขยายขอบเขตของประเทศจีนในการสำรวจระบบสุริยะ โดยภารกิจเทียนเหวินถูกตั้งชื่อตามบทกวี "คำถามสวรรค์" ที่แต่งขึ้นโดยชฺวี ยฺเหวียน (Qu Yuan) ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2,300 ปีก่อน
ยานสำรวจดาวยูเรนัสและดาวพฤหัสบดี
โดยยานอวกาศที่ถูกส่งไปโคจรผ่านดาวยูเรนัส ถูกออกแบบให้มีขนาดเล็กและมีน้ำหนักเบากว่า ซึ่งจะทำให้เหมาะกับการเดินทางที่ยาวนาน เนื่องจากดาวยูเรนัสเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกลจากโลกมาก เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับเกือบสุดท้าย รองจากดาวเนปจูน
และสำหรับยานหลักจะถูกอุทิศให้กับการสำรวจดาวพฤหัสบดีโดยเฉพาะ แล้วจะเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์คัลลิสโต (Callisto) ในท้ายที่สุด เพื่อทำการสำรวจดวงจันทร์กาลิเลียน (Galilean moons) ดวงนอกสุด ซึ่งดวงจันทร์กาลิเลียนก็คือกลุ่มดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี ที่ถูกค้นพบโดยกาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) อันได้แก่ ไอโอ (Io), ยูโรปา (Europa), แกนิมีด (Ganymede) และคัลลิสโตเป็นดวงนอกสุด
อย่างไรก็ตาม บริวารของดาวพฤหัสบดีไม่ได้มีเพียงกลุ่มดวงจันทร์กาลิเลียน แต่ยังมีดวงจันทร์อีก 67 ดวง ที่ได้รับการยืนยันการค้นพบแล้ว และยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ถูกยืนยันการค้นพบ เนื่องจากดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่มีมวลมาก ทำให้มันมีแรงดึงดูดมหาศาล จึงมักดึงดูดวัตถุในอวกาศเล็กที่โคจรผ่านเข้ามาเป็นบริวาร
ข้อมูลและภาพจาก www.space.com