รีเซต

ร่องรอยมนุษย์โบราณ 40,000 ปี โผล่ในเสฉวน หลังแหล่งขุดถูกกระแสน้ำซัด

ร่องรอยมนุษย์โบราณ 40,000 ปี โผล่ในเสฉวน หลังแหล่งขุดถูกกระแสน้ำซัด
Xinhua
15 มกราคม 2566 ( 15:17 )
55

เฉิงตู, 15 ม.ค. (ซินหัว) -- ช่วงทศวรรษ 1950 ข่าวการค้นพบกะโหลกศีรษะ "มนุษย์จือหยาง" (Ziyang Man) อายุ 30,000 ปี ในเมืองจือหยาง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กลายเป็นที่จับตาของผู้คน ปัจจุบันเมืองจือหยางได้ค้นพบร่องรอยของมนุษย์ยุคหินเก่าอีกครั้ง โดยเมื่อวันเสาร์ (14 ม.ค.) นักข่าวรายงานข้อมูลว่าสถาบันวิจัยโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลซื่อชวน ขุดพบร่องรองกิจกรรมของมนุษย์เมื่อกว่า 40,000 ปีก่อน ขณะทำการขุดค้น ณ แหล่งขุดค้นแม่น้ำเหมิงซี เมืองจือหยาง

(ภาพจากสถาบันวิจัยโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลซื่อชวน : เครื่องมือหินที่ขุดพบจากแหล่งขุดค้นแม่น้ำเหมิงซี เมืองจือหยาง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน)[/caption]

เจิ้งเจ๋อเซวียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุคหินเก่าประจำสถาบันวิจัยโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลซื่อชวนกล่าวว่า เมื่อเดือนกันยายน 2021 กระแสน้ำได้ซัดแนวตลิ่งของแหล่งขุดค้นแม่น้ำเหมิงซีพังเสียหาย และซัดซากฟอสซิลสัตว์และเครื่องมือหินบางส่วนขึ้นมา โดยหลังตรวจสอบสถานที่เจ้าหน้าที่ได้พบชั้นหินที่ยังมีสภาพดี และต่อมาในเดือนมกราคม 2022 สถาบันวิจัยฯ ร่วมกับหน่วยงานด้านวัตถุทางวัฒนธรรมระดับเมืองและอำเภอ ได้ร่วมกันขุดค้นจนบรรลุผลสำเร็จบางประการในปัจจุบัน

จวบจนปัจจุบัน มีการขุดพบเครื่องมือหินและฟอสซิลสัตว์ต่างๆ มากกว่าพันชิ้นในแหล่งขุดค้นแม่น้ำเหมิงซี เช่น เครื่องมือแกนหิน เครื่องมือสะเก็ดหิน เครื่องมือหินขูด เครื่องมือหินปลายแหลม เป็นต้น ส่วนฟอสซิลสัตว์ที่พบ ได้แก่ วัว แรด ช้าง กวาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบเครื่องมือกระดูก วัตถุที่คล้ายเครื่องมือจากไม้ และซากพืชจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งหาพบได้ยากมากในแหล่งขุดค้นยุคหินเก่า

 

จากการตรวจสอบด้วยวิธีคาร์บอน-14 ในเบื้องต้น พบว่าแหล่งขุดค้นแม่น้ำเหมิงซีมีอายุเก่าแก่กว่า 43,000 ปี โดยศาสตราจารย์หวังโย่วผิง จากคณะโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์วิทยา มหาวิทยาลัยปักกิ่งกล่าวว่า แหล่งขุดค้นแห่งนี้เป็นแหล่งขุดค้นยุคหินเก่าที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ที่มีความชัดเจน เป็นระบบ และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน และได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมนุษย์โบราณสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย

ด้านเกาซิง นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังและการศึกษาทางบรรพมานุษยวิทยา (Institute of Vertebrate Paleontology and Paleoanthropology) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนกล่าวว่า แหล่งขุดค้นแม่น้ำเหมิงซีถือเป็นจุดเริ่มต้นและความก้าวหน้าที่สำคัญของการทำความเข้าใจความเป็นมาของมนุษย์โบราณจือหยาง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง