คนเอเชียส่งข้อความด้วยแอปอะไร จะใช่ LINE เหมือนไทยหรือเปล่า ?
TNN ช่อง16
31 สิงหาคม 2566 ( 21:36 )
180
หากนึกถึงแอปพลิเคชันที่ใช้ส่งข้อความแบบออนไลน์ ไลน์ (LINE) จะเป็นชื่อแรกที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่ไลน์จะเป็นแอปยอดนิยมในแถบเพื่อนบ้านหรือในเอเชียหรือไม่ แล้วถ้าไม่ใช่แล้วแอปใดที่ได้รับความนิยมบ้าง
แอปพลิเคชันส่งข้อความยอดนิยมของแต่ละเขตในเอเชีย
โดยข้อมูลจากซินอร์บิส (Sinorbis) บริษัทด้านการตลาดดิจิทัลในปี 2022 ได้สำรวจข้อมูลแอปพลิเคชันส่งข้อความยอดนิยมใน 9 เขต แต่ละเขตนำเสนอ 3 แอปพลิเคชันยอดนิยม ดังนี้
จีน ในจีนคนนิยมใช้วีแชต (WeChat) ของเทนเซนต์ (Tencent) ตามมาด้วยโต่วอิน (Douyin) หรือติ๊กตอก (TikTok) สำหรับให้บริการในจีนโดยเฉพาะ และคิวคิว (QQ) ที่พัฒนาโดยเทนเซนต์เช่นกัน
อินเดีย อินเดียถือเป็นตลาดใหญ่ของเมตา (Meta) เพราะแอปที่นิยมใช้ก็คือ วอตส์แอป (WhatsApp) และเฟซบุ๊ก (Facebook) ซึ่งเป็นบริการในเครือทั้งคู่ นอกจากนี้ยังมีเทเลแกรม (Telegram) ที่นิยมใช้ในอินเดียด้วยเช่นกัน
เกาหลีใต้ ในเกาหลีใต้นิยมเนเวอร์ บล็อก (Naver Blog) ของบริษัท เนเวอร์ (Naver) ผู้พัฒนาบริการดิจิทัลชื่อดัง รองมาเป็นกาเกาทอล์ก (KakaoTalk) ที่พัฒนาโดยบริษัท กาเกา ซึ่งก็เป็นผู้พัฒนาชื่อดังเช่นกัน และตามมาด้วยดิสคอร์ด (Discord) ซึ่งแพร่หลายในกลุ่มนักเล่นเกมหรือเกมเมอร์
ไต้หวัน ในไต้หวันนั้นมีความหลากหลายสูง เพราะทั้งเมสเซนเจอร์ (Messenger) ของเมตา และไลน์ (LINE) ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน รวมถึงเฉี่ยวเหิงชู่ (XioHongShu - 小红书) แพลตฟอร์มที่ปั้นมาแข่งกับอินสตาแกรม (Instagram) จากจีนด้วย
ฮ่องกง ในฮ่องกงมี WhatsApp, Telegram และ WeChat ที่ได้รับความนิยม
ญี่ปุ่น เป็นที่แน่นอนว่าไลน์ (LINE) นั้นได้รับความนิยม ในฐานะดินแดนที่ให้กำเนิดแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา นอกจากไลน์แล้วยังมีดิสคอร์ด ที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นเช่นกัน
ไทย ในไทยนอกจากไลน์แล้วก็ยังมีแอปเมสเซนเจอร์และดิสคอร์ดที่ได้รับความนิยม ซึ่งคล้ายกับญี่ปุ่น
อินโดนีเซีย ในอินโดนีเซียแอปพลิเคชันส่งข้อความที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเทเลแกรม ตามมาด้วยเฟซบุ๊ก และวอตส์แอป ของเมตา
สิงคโปร์ ส่วนเพื่อนบ้านในอาเซียนอีกชาติอย่างสิงคโปร์นั้นนิยมการใช้เทเลแกรมในการส่งข้อความ ตามมาด้วยวอตส์แอป และบีเรียล (BeReal) แพลตฟอร์มที่คล้ายติ๊กตอกแต่วิดีโอที่อัปโหลดนั้นจะถูกบังคับให้เป็นภาพจากเวลาและสถานที่จริงแทน
โดยการสำรวจนี้ยังพบว่าในเวียดนามนิยมใช้ Facebook ในการส่งข้อความเท่านั้น และไม่มีแอปพลิเคชันใดที่เข้าไปทำตลาดได้ในปัจจุบัน
ที่มาข้อมูล ICEF Monitor