รีเซต

หุ่นยนต์ AI ทำงานใต้น้ำ ช่วยดูแลฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง

หุ่นยนต์ AI ทำงานใต้น้ำ ช่วยดูแลฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง
TNN ช่อง16
27 พฤศจิกายน 2567 ( 10:03 )
26

รัฐบาลสหราชอาณาจักร สนับสนุนโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ใต้น้ำที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI แบบอัตโนมัติ ซึ่งออกแบบให้สามารถปรับตัวและทำงานท่ามกลางทะเลที่มีคลื่นลมแรงได้แบบเรียลไทม์ เพื่อใช้ช่วยตรวจสอบ และซ่อมแซมฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งได้มีประสิทธิภาพขึ้น


ที่มา : Reuters


ปัจจุบันนี้ในสหราชอาณาจักร มีกังหันลมมากกว่า 2,600 ตัว ที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่ง และรัฐบาลมีแผนจะเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นถึง 4 เท่าภายในปี 2030 และโดยทั่วไปแล้ว กังหันแต่ละตัว จะต้องมีการตรวจสอบ การบำรุงรักษามากสุดปีละ 3 ครั้ง และอาจจะถี่ขึ้น ตามอายุการใช้งานของกังหัน


ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดเป็นโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ใต้น้ำเพื่อช่วยทุ่นแรงมนุษย์ และทำให้การดูแลฟาร์มกังหันลม มีประสิทธิภาพขึ้น โดยเป็นผลงานจากบริษัท ฟรอนเทียร์ โรบอต (Frontier Robots) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรมูลค่า 1,400,000 ปอนด์ หรือราว 61 ล้านบาท


ตัวหุ่นยนต์ทำงานอัตโนมัติด้วยความแม่นยำสูง แม้ในสภาพคลื่นทะเลที่มีกำลังแรง และระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ของหุ่นยนต์ ที่ผสานรวมเข้ากับเทคโนโลยีการทำแผนที่ 3 มิติ ยังทำให้หุ่นยนต์สามารถสร้างแผนที่ใต้น้ำ ที่มีรายละเอียดสูง และช่วยให้หุ่นยนต์ว่ายไปสำรวจตามโครงสร้างนอกชายฝั่ง และระบุส่วนประกอบที่ต้องการซ่อมบำรุงได้อย่างแม่นยำมากขึ้น


โดยปัจจุบัน ทีมวิศวกร กำลังพัฒนาแขนหุ่นยนต์บนเรือสำหรับการใช้งานเพิ่มเติม คาดว่าจะมีการทดลองทางทะเลในต้นปี 2025 โดยมีเป้าหมายคือให้หุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติเหล่านี้ ทำงานบำรุงรักษากังหันลมนอกชายฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบสภาพ การทำความสะอาดโครงสร้าง และอาจจะ ต่อยอด ให้สามารถซ่อมแซมกังหันลมนอกชายฝั่งได้ด้วย


นอกจากผลงานนี้แล้ว ในสหราชอาณาจักร ยังมีสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีบีม (Beam) ที่เปิดตัวยานพาหนะใต้น้ำอัตโนมัติ ขับเคลื่อนโดยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อนำไปใช้สำรวจฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งเช่นกัน 


เพราะการสำรวจสภาพของกังหันลมนอกชายฝั่ง ส่งผลสำคัญต่อการใช้งานผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะเมื่อกังหันเหล่านี้ อาจเจอกับการกัดเซาะของคลื่น จึงต้องได้รับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทจึงหวังว่าการใช้งานอุปกรณ์สำรวจที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะช่วยลดเวลาในการตรวจสอบลงได้ และลดการใช้แรงงานมนุษย์ ให้ไม่ต้องคอยมาตรวจเช็กด้วยตนเองอีกด้วย


ที่มา : Reuters


ที่มาข้อมูล Reuters

ที่มารูปภาพ Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง