รีเซต

กินเจ 2565 เปิดเคล็ด (ไม่) ลับ กินเจให้ถูกหลักโภชนาการ

กินเจ 2565 เปิดเคล็ด (ไม่) ลับ กินเจให้ถูกหลักโภชนาการ
TNN ช่อง16
24 กันยายน 2565 ( 13:38 )
80
กินเจ 2565 เปิดเคล็ด (ไม่) ลับ กินเจให้ถูกหลักโภชนาการ

กรมอนามัย แนะ ก่อนกินเจควรเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ โดยปรับระบบของร่างกายก่อนกินเจ 2 – 3 วัน เพิ่มผักในมื้ออาหารให้มากขึ้น ลดเนื้อสัตว์ให้ร่างกายได้ปรับตัว

วันนี้ (24 ก.ย.65) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าเทศกาลกินเจปีนี้ อยู่ในช่วงวันที่ 26 กันยายน ถึง 4 ตุลาคม 2565 โดยวัตถุประสงค์หลักของการกินเจ คือ การสร้างบุญสร้างกุศล ชำระใจให้ใสสะอาด ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ และเป็นการปรับสมดุลร่างกาย 

ส่งผลให้สุขภาพกายและใจดีขึ้นเนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารมาจากพืชผัก ผลไม้ เห็ดต่าง ๆ รวมไปถึงธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้งเป็นเครื่องปรุงหลัก โดยพืชผัก ผลไม้ ธัญพืช เป็นกลุ่มอาหารที่ให้วิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ 

ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และช่วยล้างสารพิษในเยื่อบุลำไส้ออกจากร่างกาย สำหรับเห็ดมีโปรตีนสูงไขมันต่ำมีแร่ธาตุและวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินดี และเบต้ากลูแคน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ส่วนถั่วก็อุดมไปด้วยโปรตีนจากพืชมีกรดอะมิโนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย

ทั้งนี้ ก่อนกินเจ 2-3 วัน ควรเตรียมความพร้อมของร่างกายและจิตใจ โดยให้ระบบทางเดินอาหารค่อย ๆ ปรับสภาพเพิ่มการกินผักในมื้ออาหารให้มากขึ้น ลดปริมาณเนื้อสัตว์หรือเปลี่ยนจากเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เป็นปลา ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง ตามลำดับ เมื่อถึงช่วงกินเจประชาชนควรใส่ใจหลักโภชนาการดังนี้

1) กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละมื้ออาหาร ประกอบไปด้วย โปรตีนจากถั่วเมล็ดแห้ง คาร์โบไฮเดรตจากข้าวแป้ง วิตามินและแร่ธาตุ จากพืชผัก ผลไม้ และไขมันจากน้ำมันแต่พอดี

2) กินโปรตีนจากพืชให้หลากหลายและเพียงพอ เช่น เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ น้ำเต้าหู้ โปรตีนเกษตร ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่วเมล็ดแห้งทุกชนิด 

3) เลือกปรุงหรือซื้ออาหารที่มีรสชาติปานกลาง ไม่หวาน มัน เค็มจัด โดยอาจเลือกเมนูเจประเภท ต้ม แกง ย่าง ยำและน้ำพริกผักแนม

4) กินอาหารกลุ่มข้าวแป้ง เส้นต่างๆ และผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์ที่ทำจากแป้งในปริมาณที่เหมาะสม เพราะอาจทำให้ได้พลังงานจากคาร์โบไฮเครตมากเกินไป

5) วัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารต้องไม่ปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง โดยเฉพาะจากพืชผักควรล้างให้สะอาดเพื่อความปลอดภัย


ข้อมูลจาก กรมอนามัย

ภาพจาก TNN Online


ข่าวที่เกี่ยวข้อง