ปรับสมดุลกินเค็มจัด ลดเสี่ยงความดันโลหิตสูง
ข้อมูลจาก เครือข่ายลดเค็มลดโรค ที่ได้ศึกษาความสูญเสียจากการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากการบริโภคเกลือที่มากเกินไป พบว่า คนไทยมีการบริโภคเกินระดับที่เหมาะสม ขณะที่มีการศึกษาภาระโรคในระดับโลก (Global Burden of Disease: GBD) ปี 2017 พบกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคเกลือสูงสุด ได้แก่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก อย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีไทยอยู่ด้วยนั้น มีการบริโภคเกลือสูงกว่าระดับที่เหมาะสม แต่ไม่ถึงกับเกินระดับที่สูง
รณรงค์มานานยังไม่ดีขึ้น
แม้ว่าที่ผ่านมา มากกว่า 10 ปีสำหรับการรณรงค์เรื่อง การลดกินเค็ม แม้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่ายังไม่ได้กระแสการตอบรับมากนัก
โดย นพ.ปริญญ์ วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การกินเค็มลดลง เป็นเรื่องยากแม้จะรณรงค์กันมาเป็นสิบปี เพราะการปรับสูตร ปรับรสชาติ ยังมีความต่อเนื่องตามมาของการแข่งขันทางธุรกิจ
นอกจากนี้ จากข้อมูลการศึกษาในประเทศไทย คนไทยบริโภคเค็มค่อนข้างมาก โดยมีการเก็บปัสสวะดูปริมาณเกลือที่ขับทิ้งในแต่ละวัน พบว่า คนไทยมีการบริโภคเกลือเกิน ถึง 2 เท่าจากที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้บริโภคได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน พบภาคใต้ที่มากสุด คือกินถึง 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริโภคเกลือน้อยสุดของประเทศ ขณะที่กรุงเทพฯ กับภาคเหนือ บริโภคเกลืออยู่ในปริมาณกลางๆ
สำหรับพฤติตกรรมการปรับการบริโภคเค็มลดลงนั้น นพ.ปริญญ์ บอกว่า ผู้ที่ทำงานออฟฟิศ หรือไม่ได้ออกกำลังการต้องปรับการกินเค็มลดลง หากลดเค็มไม่ได้ ให้ลดปริมาณลง เช่น แทนที่จะกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหมดจาน กินครึ่งเดียวพอ ที่เหลือทิ้งไป น้ำซุปแทนซดหมดถ้วย ตักกิน 1-2 คำพอ
ไม่ลดเค็มเสี่ยงเจ็บป่วยกลายเป็นภาระ
ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวถึงแนวทางมาตรการลดการบริโภคเกลือ พบว่า การรณรงค์ได้ผลแค่ 2% ขณะที่การติดฉลากผลิตภัณฑ์ก็ลดได้ 2% แต่หากมีการบังคับการลดเกลือในอุตสาหกรรมอาหาร พบว่าสามารถลดการบริโภคเกลือได้ถึง 20% ฉะนั้นการรณรงค์ด้วยการให้ความรู้ หรือการส่งเสริมสุขภาพจึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้อาหารต่างๆ เค็มน้อยลงด้วย
แม้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการบริโภคเกลือของคนไทย หรือมีการศึกษาประเมินความสูญเสียจากการเจ็บป่วยจากการบริโภคเกลือ แต่เครือข่ายลดเค็ม ลดโรคมีการศึกษา พบว่า คนไทยมีการบริโภคเกินระดับที่เหมาะสม ขณะที่มีการศึกษาภาระโรคในระดับโลก (Global Burden of Disease: GBD) ปี 2017 พบกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคเกลือสูงสุด ได้แก่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก อย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีไทยอยู่ด้วยนั้น มีการบริโภคเกลือสูงกว่าระดับที่เหมาะสม แต่ไม่ถึงกับเกินระดับที่สูง
ทพญ.กนิษฐา กล่าวถึงผลการกินเค็มจนนำไปสู่โรค ทั้งกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นภาระการรักษาพยาบาลที่สำคัญของประเทศไทย รวมถึงโรคไต ซึ่งโรคเหล่านี้หลังจากเป็นแล้ว นำสู่ความพิการ ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง และเป็นภาระหนักของครอบครัว อนาคตประเทศไทยต้องเตรียมการรองรับภาวะคนไทยไม่มีลูกหลานดูแลด้วย
ตั้งเป้าปี 2568 ลดบริโภคเกลือลง 30%
ด้าน รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา อายุรแพทย์ทางด้านหน่วยประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันทุก 2 วินาที มีคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases :NCDs ) และโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke โรคหัวใจ เป็นลำดับต้นๆ ของการเสียชีวิตนั้น
“สาเหตุหลักๆ ของโรค NCDs คือการบริโภคเกิน หวานเกิน เค็มเกิน” รศ.นพ.สมบัติ กล่าวและยังระบุว่าว ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรณรงค์ลดปริมาณการบริโภคเกลือลงให้ได้ โดยประเทศไทยมีการตั้งเป้าหมายการบริโภคเกลือลงให้ภายในปี 2568 ประชาชนต้องบริโภคเกลือลดลง 30% แต่ ณ วันนี้เรายังไปไม่ถึงไหน ยังอยู่ห่างไกล
ส่วนข้อมูลที่เชื่อมโยงเรื่องการกินเค็มกับโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke รศ.นพ.สมบัติ ยังระบุว่า คนไทยป่วยด้วยโรคนี้ 2.5 แสนรายต่อปี หรือ 690 คนต่อแสนประชากร ทำให้เสียชีวิตและทุพพลภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้สูงอายุ
“ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ความดันเลือดสูง คือการบริโภคเกลือ ผงชูรส ผงฟู ที่มากเกินไป ทำให้ความดันโลหิตสูง โดยคนไข้จะไม่รู้ตัวเลยหากไม่มีการตรวจ หรือวัดความดัน”
ร่วมมือกันทุกส่วนเพื่อสุขภาพที่ดี
สำหรับประเทศไทยที่มีข้อเสนอการเก็บภาษีความเค็ม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่มีโซเดียมลดลงให้ผู้บริโภคนั้น รศ.นพ.สมบัติ กล่าวว่า นโยบายเก็บภาษีโซเดียม นอกจากมีผลต่อเรื่องราคาแล้ว ยังจะทำให้คนไทยตระหนักรู้ว่า อาหารประเภทไหนควรระวังก่อนการบริโภค และทำให้ผู้ประกอบการคิดสูตรอาหารที่มีโซเดียมลดลง หรือสูตรเพื่อสุขภาพออกมา
“วันนี้เทรนด์ (trends) การดูแลสุขภาพมาแล้ว แต่ยังจุดกระแสไม่ติด ผมอยากเชิญชวนภาคอุตสาหกรรม แนวโน้มโลกยุคใหม่ อุตสาหกรรมต้องปรับตัว ทำอาหารให้มีคุณภาพ รสชาติอร่อย มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หากเราอยากเป็นผู้นำด้านอาหารโลก รสชาติอร่อยอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นที่ยอมรับด้วย” รศ.นพ.สมบัติ กล่าว
ในท้ายที่สุดแม้จะงดกินเค็มไม่ได้ แต่การเริ่มปรับพฤติกรรมให้ลดปริมาณการกินเค็มให้ลดลง เช่น แทนที่จะกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหมดจาน กินครึ่งเดียวพอ ที่เหลือทิ้งไป น้ำซุปแทนซดหมดถ้วย ตักกิน 1-2 คำพอ ก็จะช่วยให้ร่างกายปรับสมดุล ลดความเสี่ยงเรื่องความดันโลหิตสูง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นประโยชน์ต่อทุกคนด้วยเช่นกัน.
ที่มา : สสส. - เสวนาออนไลน์ "กินเค็มกระทบสุขภาพอย่างไร”
ติดตาม TNN Health ได้ที่นี่ FB https://www.facebook.com/TNNHealth