'ผู้หญิงจีน 20% อยากหวนคืนชีวิตโสด' ผลวิจัยพบ ภรรยาไม่มีความสุขเพิ่ม 2 เท่า จากสังคมชายเป็นใหญ่ ภาระที่บ้านล้นมือ
ข่าววันนี้ ความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว หน้าที่ความรับผิดชอบในครัวเรือน และนโยบายสาธารณะที่ไม่เท่าเทียม ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับการแต่งงาน
แต่งงานไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุดของผู้หญิงจีนอีกต่อไป
หลิว ฟาง เขียนข้อความสั้น ๆ บน Weibo สังคมออนไลน์ยอดนิยมของจีนว่า “สิ่งที่ฉันเสียใจที่สุดในชีวิต คือ การแต่งงานและมีลูก การอยู่คนเดียวมันวิเศษจะตาย”
โพสต์ของเธอพูดถึงความเป็นจริงที่พบได้บ่อยขึ้นในจีน ซึ่งประชากรจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้หญิงกำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับค่านิยมการแต่งงาน
หลิว อายุ 38 ปี เป็นชาวนครเซี่ยงไฮ้ เธอแต่งงานมา 7 ปี และมีลูกชายวัย 6 ขวบ ตอนแต่งงาน เธอคาดหวังว่าความสุขของเธอจะเพิ่มขึ้นสองเท่า และความเศร้าโศกของเธอจะลดลงครึ่งหนึ่ง
หลิว ทำอาชีพพนักงานออฟฟิศที่บริษัทข้อมูลทางการเงินแห่งหนึ่ง เธอตัดพ้อว่า แทนที่จะมีความสุข “กลับกลายเป็นว่างานเพิ่มขึ้นสามเท่า ทั้งงานในออฟฟิศ งานบ้าน ไหนจะต้องดูแลลูกอีก ฉันคิดเรื่องหย่ามาตลอด”
หลิวรับผิดชอบดูแลลูกและงานบ้าน ขณะเดียวกันยังต้องทำงานประจำ เรียกได้ว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่มีความสุขกับชีวิตแต่งงาน ทั้งยังรับรู้ถึงความรุนแรงภายในครอบครัวต่อผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น และนโยบายสาธารณะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อเพศแม่เลย
Cooling off period ทบทวนก่อนหย่า
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางการผ่านกฎหมายที่เรียกว่า “Cooling off period” สำหรับคู่แต่งงานที่ต้องการหย่าร้าง โดยกำหนดเวลา 30 วัน ให้ทั้งสองฝ่ายทบทวนการตัดสินใจอีกครั้งว่า จะหย่ากันหรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญถกเกียงกันว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงต่อการหย่าร้าง แต่กลับไม่มีการพูดถึงเรื่องที่ผู้หญิงไม่มีความสุขในชีวิตแต่งงานเลย
ทั้งนี้ ผลสำรวจคุณภาพชีวิตของจีนประจำปี พบว่าเมื่อปีที่แล้วเกือบ 20% ของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว รู้สึกเสียใจที่ตัดสินใจแต่งงาน เทียบกับเมื่อปี 2017 ที่มีเพียง 12% และปี 2012 เพียง 9% ขณะที่ มีผู้ชายเพียง 7% เท่านั้นที่เสียใจกับการแต่งงาน
การสำรวจนี้เป็นการจัดทำร่วมกันระหว่างสำนักงานสถิติแห่งชาติ, การไปรษณีย์แห่งประเทศจีน และคณะการพัฒนาแห่งชาติ (NSD) ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง โดยแบบสำรวจกว่าหนึ่งแสนชุดนี้ ส่งไปทั่วประเทศทางไปรษณีย์
อัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้น
จีนมีอัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมีอัตราการแต่งงานลดลง
ข้อมูลจากกระทรวงกิจการพลเรือนชี้ว่า ปี 2019 พบว่าอัตราการหย่ามีสูงกว่า 20% และในปี 2019 อัตราการหย่าร้างสูงถึง 50%
อัตราการหย่าร้างลดลงในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอัตราการหย่าร้างที่สูงกว่า 45% และส่วนใหญ่มักเป็นภรรยาที่เป็นฝ่ายขอหย่าร้าง
ข้อมูลของศาลฎีกาพบว่า กว่า 73% ของคดีหย่าร้างทั่วประเทศจีนในปี 2017 ผู้หญิงเป็นฝ่ายยื่นเรื่องขอหย่าสามี
รัฐบาลตระหนักถึงการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาได้ใช้กฎหมายที่กำหนดให้คู่รักต้องทบทวนการหย่าร้าง (cooling off period) เป็นเวลา 30 วัน ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจแยกทางกัน
แต่กฎหมายนี้กลายเป็นดาบสองคม เพราะคู่แต่งงานจำนวนมากเร่งดำเนินการหย่าทันที ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อบังคับดังกล่าว
งานบ้านก่อนแต่ง และหลังแต่งงาน
จากการสำรวจของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ CCTV เมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ชายชาวจีนเกือบ 47% กล่าวว่าพวกเขามีส่วนร่วมในการทำงานบ้านก่อนแต่งงาน โดยผู้หญิงอยู่ที่ 46%
แต่หลังแต่งงานสมดุลเปลี่ยนไปเล็กน้อย โดยมีผู้ชายมากกว่า 46% และผู้หญิง 48% บอกว่าพวกเขาต่างทำงานบ้าน
จู หนาน ดุษฎีบัณฑิตจากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมาเก๊า กล่าวว่าเหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้สำหรับช่องว่างความพึงพอใจระหว่างภรรยาและสามี อาจเป็นเพราะผู้ชายไม่ได้ทำงานบ้านอย่างที่ควรจะทำ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาระดับโลก
“สังคมส่วนใหญ่ นักวิจัยศึกษาพบว่า การแบ่งงานที่ไม่เท่าเทียม (โดยปกติจะเป็นผู้ชาย) เชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับความไม่พอใจในชีวิตสมรส” เขากล่าว
จู หนาน ชี้ให้เห็นว่า การสำรวจโดย CCTV อาจไม่มีระเบียบแบบแผนเมื่อเทียบกับการศึกษาทางวิชาการ และผลงานวิจัยนี้อาจไม่สะท้อนความเป็นจริงในจีนอย่างถูกต้องเท่าที่ควร
ในสหรัฐอเมริกานั้น ผู้ชายที่แต่งงานแล้ว 51% กล่าวว่าพวกเขาพึงพอใจกับวิธีแบ่งงานบ้าน เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่แต่งงานแล้วเพียง 40%
การศึกษาในปี 2019 ที่ตีพิมพ์ใน Pew Research Center พบว่า ในบรรดาพ่อบ้าน 56% กล่าวว่าพวกเขาพึงพอใจอย่างมากกับแนวทางการเลี้ยงดูของคู่สมรส ในขณะที่ความพึงพอใจของแม่บ้านอยู่ที่ 42%
ภรรยาก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน
หวง อวี๋ชิน (Huang Yuqin) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งจีนตะวันออก (ECUST) กล่าวว่า ภรรยาในประเทศจีนแบกรับภาระงานบ้านและการศึกษาของบุตรหลานมากเกินไป เพราะตัวเองก็ต้องทำงานหาเงินด้วย
อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานผู้หญิงจีนยังคงอยู่ในระดับสูง และสูงกว่า 60% ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้นคุณแม่จำนวนมากต่างก็ทำงานเช่นกัน บ่อยครั้งที่ผู้หญิงยังคงถูกกล่าวหาว่าแข่งขันกัน เพื่อการศึกษาของบุตรซึ่งเป็นเรื่องที่ดุเดือดอย่างมากในประเทศจีน
ผู้หญิงคาดหวังการแต่งงานน้อยลง
“พวกเขาทุ่มเททั้งแรงกายและเวลาให้กับครอบครัวบ่อยครั้งมากกว่าที่สามีทำ…ความไม่พอใจเกิดขึ้นเมื่อความรับผิดชอบของทั้งสองฝ่ายไม่สอดคล้องกัน” หวงกล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 36 ถึง 45 ปี ซึ่งจากการสำรวจของ CCTV พบว่าเป็นกลุ่มอายุที่ไม่มีความสุขมากที่สุด หวงกล่าวว่าอาจเป็นเพราะพวกเขาอยู่ในช่วงที่เหนื่อยที่สุดในชีวิต
มีสื่อหลาย ๆ สำนักที่รายงานเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิง รวมถึงการฆาตกรรมภรรยาที่น่าสยดสยองโดยสามีของพวกเธอเอง อาจทำให้คนที่แต่งงานผิดหวังเช่นกัน
กฎหมายต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว
ปลายปี 2019 สื่อจีนรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 942 คน จากความรุนแรงในครอบครัว
รายงานประจำปีของกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีระบุว่า จากกรณีความรุนแรงในครอบครัว 525 คดีที่ศึกษามา พบว่า 85% ของเหยื่อเป็นเพศหญิง ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 60 ปี หมายความว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมีแนวโน้มที่จะต้องทนทุกข์ทรมานจากความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าผู้ชาย
นี่ยังไม่รวมถึงกรณีความรุนแรงในครอบครัวจำนวนมาก ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลหรือด้อยพัฒนา ซึ่งขาดการสนับสนุนจากสื่อ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)
“หลาย ๆ คดีจุดชนวนจากการถกเถียงเพียงสั้น ๆ เท่านั้น และไม่นานก็หายไปในมหาสมุทรแห่งข้อมูลใหม่ ๆ คดีที่มีชื่อเสียงบางคดีจบลงโดยไม่มีการรายงานติดตามผลใด ๆ ”
ผู้หญิงเลี่ยงการแต่งงานได้ หากไม่ต้องการมีลูก
จู หนาน นักวิจัยด้านจิตวิทยากล่าวว่า การที่ภรรยามีความสุขน้อยลง ควรกระตุ้นให้ประเมินแนวคิดทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับค่านิยมการแต่งงานอีกครั้ง
“การแต่งงานไม่ควรเป็นเป้าหมายสุดท้ายของชายและหญิงอีกต่อไป และเราควรหยุดให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเกินไปได้แล้ว” เขากล่าว
“ทั่วไปแล้วประชากรในจีนกำลังละทิ้งแนวคิดการแต่งงานแบบเดิม ๆ อย่างช้า ๆ ผู้ชายควรจะลงทุนมากขึ้นในการหาแฟน ในขณะที่ผู้หญิงควรเสียสละความเป็นอยู่ที่ดีให้กับครอบครัว”
“อุดมคติใหม่นี้ แน่นอนว่าทั้งชายและหญิง ต้องแบกรับภาระภายในบ้านเท่า ๆ กัน” เขากล่าว และดังที่หวง จาก ECUST ระบุว่าผู้หญิงเริ่มจินตนาการถึงชีวิตของตัวเองที่แตกต่างไปจากเดิม
“คนเราไม่จำเป็นต้องแต่งงานเสมอไป”
หลิว ผู้หญิงที่แต่งงานอย่างไม่มีความสุขในเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า เพื่อนของเธอหลายคนยังโสด และดูเหมือนว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีกว่าที่เธอเป็น
“ฉันปฏิเสธไม่ได้ว่าฉันอิจฉาพวกเขามาก อย่างน้อยก็ในช่วงนี้ของชีวิต พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง มีเวลาส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนหรือพัฒนาทักษะอาชีพ"
"บางทีเมื่อลูกของฉันอายุมากกว่านี้ ฉันอาจจะเข้าร่วมกับพวกเขา (ด้วยการหย่าสามี และเป็นโสดอีกครั้ง)” เธอกล่าว
เรื่อง : พัชรี จันทร์แรม
ภาพ : Reuters