รีเซต

เสียงสะท้อน‘หอการค้า’ ผวาล็อกดาวน์-พิษโควิด

เสียงสะท้อน‘หอการค้า’ ผวาล็อกดาวน์-พิษโควิด
มติชน
5 มกราคม 2564 ( 11:44 )
96
เสียงสะท้อน‘หอการค้า’ ผวาล็อกดาวน์-พิษโควิด

หมายเหตุ มุมมองหอการค้าใน 3 จังหวัดพื้นที่สีแดงต่อสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ภายหลัง ศบค.ประกาศยกระดับมาตรการควบคุมเข้มเพื่อรับมือการแพร่ระบาดในครั้งนี้

 

ชาธิป ตั้งกุลไพศาล
รองประธานหอการค้า จ.สมุทรสาคร

 

ผลกระทบที่ทางภาคเอกชนของ จ.สมุทรสาคร จะได้รับจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกที่ 2 นี้ จากสถานการณ์ก่อนปีใหม่ซึ่งได้มีการประกาศปิดพื้นที่นับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2564 นั้น ทางหอการค้า จ.สมุทรสาคร ได้ประเมินตัวเลขความเสียหายโดยรวมที่เกิดกับธุรกิจในทุกภาคส่วนของ จ.สมุทรสาคร มีไม่น้อยกว่า 16,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยแล้วเกิดความเสียหายวันละกว่า 1,100 ล้านบาท แต่ตอนนั้นนับเป็นโชคดีอย่างหนึ่งที่ภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่หลายรายมีออเดอร์ส่งไปยังลูกค้าต่างประเทศได้จัดส่งสินค้าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังทำให้เกิดผลกระทบตามที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น

 

ต่อมาหลังจากปีใหม่ผ่านมาระยะหนึ่งแล้วนั้น พบว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ใน จ.สมุทรสาคร และหลายๆ จังหวัดยังคงรุนแรง อีกทั้งยังมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นด้วยนั้น หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไปคาดการณ์ว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของ จ.สมุทรสาคร เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว หรืออาจจะมากกว่านั้น เนื่องจากภาพรวมของอุตสาหกรรมใน จ.สมุทรสาคร ส่วนใหญ่อยู่ที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป มีทั้งเรื่องของสินค้าสัตว์น้ำ การขนส่ง การเก็บรักษา และปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง หากไม่สามารถเร่งแก้ไขปัญหา หรือยับยั้งการระบาดของเชื้อโควิด-19 แล้วทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติได้นั้น เชื่อได้ว่าจะมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อวันจะต้องไม่ต่ำกว่า 2,200 ล้านบาทอย่างแน่นอน รวมถึงการที่ลูกค้าขาดความเชื่อมั่นในสินค้าของไทยจนสั่งลด หรือหยุดการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย จะกลายเป็นผลกระทบอย่างมหาศาลแน่นอน ดังนั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องรีบดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในส่วนของตลาดทะเลไทยเปิดค้าขายได้แล้วนับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564 นี้ แม้ว่าจะยังคงไม่สามารถดำเนินงานได้เป็นปกติอย่างที่เคยเปิดตลาดซื้อขาย แต่เชื่อได้ว่าจะสามารถนำรายได้กลับคืนมาได้ในระดับหนึ่ง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของ จ.สมุทรสาคร ได้

 

สำหรับการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมนั้น ขณะนี้มีการปรับตัวอย่างแรกที่สำคัญที่สุดคือ การคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ในแรงงานทั้งคนไทยและคนต่างด้าวที่มีอยู่ในสถานประกอบการให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นดำเนินการแยกผู้ติดเชื้อออกมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สมุทรสาคร หากสถานประกอบการทุกแห่งได้ทำการตรวจคัดกรองโรคแล้วจะทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงได้มากขึ้นว่ามีกำลังในการที่จะผลิตสินค้าได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด ดังนั้น สิ่งสำคัญในขณะนี้คือ ขอให้ผู้ประกอบการทุกแห่งต้องร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ด้วยการทำสินค้าของ จ.สมุทรสาคร ที่ส่งออกไปให้ปลอดจากเชื้อโควิด-19 พร้อมปรับตัวในเรื่องของการขนส่ง จะต้องมีการบริหารการขนส่งให้เหมาะสมและคุ้มค่ามากที่สุด

 

ส่วนภาครัฐที่ภาคอุตสาหกรรมอยากจะให้เข้ามาดำเนินการก่อนคือ เรื่องของการให้คำแนะนำในการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 ในแต่ละสถานประกอบการ และจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานคนในแต่ละโรงงาน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อนั่นเอง

 

นพดล ตั้งทรงเจริญ
ประธานหอการค้า จ.ระยอง

 

สถานการณ์โควิด-19 จ.ระยอง เป็น 1 ใน 28 จังหวัดพื้นที่อยู่ในมาตรการคุมเข้มพื้นที่ควบคุมสูงสุด แต่ยังไม่ประกาศล็อกดาวน์ วันนี้มีสองด้าน ถ้าประกาศล็อกดาวน์จะทำให้เศรษฐกิจเสียหาย ธุรกิจหลายธุรกิจเปิดไม่ได้ คนเข้าออกจะเกิดความลำบาก แต่อีกด้านหนึ่งคิดว่าถ้าล็อกดาวน์แล้วสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ดีขึ้น เป็นการควบคุมคนไม่ให้ออกมาเที่ยวหรือออกมาแพร่เชื้อได้ ถ้าถามผมว่าในระยองมองว่าธุรกิจตกต่ำมากไปต่อไม่ได้ ยอดขายเหลือแค่ 20-30% บรรยากาศการค้าขายซบเซา ปัญหาคือต้องการให้มีการควบคุมเชื้อให้ได้เร็วที่สุด จะเป็นโอกาสมากกว่าที่ปล่อยให้มันยืดเยื้อ สมมุติว่าในอีกประมาณ 7-15 วัน คุมเชื้อการแพร่ระบาดได้ จะเป็นผลดีกว่าที่คุมไม่ได้แล้วปล่อยให้เป็นอยู่แบบนี้ ผมพูดมันมีสองด้าน ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าแบบไหนดีกว่ากัน แต่ถ้าล็อกดาวน์แล้วยังคุมไม่ได้จะยิ่งหนัก ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน

 

แต่ถามว่าตอนนี้เศรษฐกิจเป็นอย่างไรตอบได้ ยอดขายเหลือ 20-30% เอง โรงเรียนปิด ธุรกิจทั่วไปก็ซบเซา อันนี้เป็นค้าปลีกเอสเอ็มอีที่อยู่ข้างนอก ประกอบกับช่วงนี้พนักงานโรงงานไม่ค่อยออกมาซื้อของเพราะกลัวจะติดเชื้อ เรื่องการท่องเที่ยวอันนี้ยอดลดวูบ 90-100% จัดสัมมนา งานแต่ง งานพิธีต่างๆ ไม่ได้ ต้องขออนุญาตก่อน หรือให้โรงแรมใช้เป็นสถานที่กักตัวของพนักงานไม่ให้ติดเชื้อ ต้องมีการปรับตัวเองแล้วไม่เช่นนั้นก็จะอยู่ไม่ได้ แต่การจะปรับตัวอย่างไรไปตอบแทนเขาไม่ได้ เชื่อว่าในเดือนมกราคมทั้งเดือนจัดกิจกรรมอะไรไม่ได้ โรงแรมก็จะมีปัญหาแน่นอน แต่ทางโรงแรมเขาก็ต้องหาวิธีแก้ไขสถานการณ์ของเขา ผมเชื่อว่ายังพอมีทางออกที่ไปในทางที่ดี แต่ถ้าเราผ่านเรื่องสถานการณ์โควิดได้เร็ว เรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้เร็วจะเป็นประโยชน์มากกว่า

 

วันนี้ถนนในตัวเมืองระยองจะไม่มีรถติดเหมือนปกติ พื้นที่ในตัวเมืองระยอง ต.เชิงเนิน ต.ท่าประดู่ ต.เนินพระ มีผู้ติดโควิดสูงกว่าพื้นที่อื่น ไม่รู้ใครเป็นใคร แล้วใครจะกล้าออกมาซื้อของ จะมีบ้างก็น้อยมาก เสี่ยงติดเชื้อ ในความเห็นส่วนของผม ถ้าล็อกดาวน์เจ้าหน้าที่ควบคุมอย่างเข้มงวด ยอมเจ็บแค่ 7 วัน คิดว่าคุมเชื้อโควิดอยู่ จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงแต่จะให้เป็นศูนย์ในทันทีเป็นไปไม่ได้ กรณีที่ยังไม่มีการล็อกดาวน์ ยังมีคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงยังไม่ได้ไปตรวจหาเชื้อ กลุ่มนี้จะแพร่เชื้อไปอีกถ้ารู้ว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้รีบไปตรวจ โอกาสที่จะแพร่เชื้อจะลดลง ขอทุกคนสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน เจลล้างมือ ต้องดูแลตัวเองซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

 

กรณีที่นักธุรกิจบางรายบ่นว่าเศรษฐกิจตอนนี้ได้รับผลกระทบหนักถึงธนาคารจะช่วยเหลือบางส่วนแต่เรื่องดอกเบี้ยไม่ลด ยังต้องจ่าย ต้องคิดว่าถ้าไม่ล็อกดาวน์ กับการที่ปล่อยแบบนี้เหมือนกันไหม ทุกวันนี้ธุรกิจเดินไม่ได้อยู่แล้ว ต้องล็อกดาวน์จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าธุรกิจเดินได้แล้วล็อกดาวน์จะเป็นผลเสียต่อธุรกิจ ดูแล้ววันนี้ธุรกิจไม่มีใครดีเลย ดีที่สุดตอนนี้ถ้าขายได้ 50% ถือว่าดีที่สุดแล้ว เรื่องล็อกดาวน์พูดยากจริงๆ

 

บรรพต ก่อเกียรติเจริญ
อดีตประธานหอการค้า จ.ตาก

 

สถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้สร้างผลกระทบกับการค้าชายแดนด้าน จ.ตาก มาก แม้นว่าทางจังหวัดยังอนุโลมให้สินค้าไปมาได้ในข้อจำกัดที่ห้ามคนเข้าเมืองเท่านั้น แต่มาตรการในระยะหลังที่มาพร้อมกับโควิด-19 ระลอก 2 ส่งผลกระทบมาก เพราะผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น การกักตัวเวลา 14 วัน ของพนักงานขับรถยนต์ และมาตรการเข้มงวดด้านอื่นๆ แต่ถือว่าไม่มีทางเลือกใด เช่นเดียวกับทางประเทศเมียนมา เนื่องจากมีชาวเมียนมาติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ทางรัฐบาลเมียนมาต้องออกมาตรการเข้มข้นขึ้น ทำให้การขนส่งสินค้าไปมาไม่สะดวก ส่งผลต่อมูลค่าการค้าชายแดนลดลงไปร้อย 20-30 อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ก่อนเข้าสู่การระบาดโควิด-19ระลอก 2 การค้าชายแดนอยู่ในเกณฑ์ดี มีมูลค่าการส่งออกที่เดือนละ3,000 ล้านบาท

 

แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระลอก 2 ทำให้มูลค่าการค้าชายแดนลดลงทันที ส่วนหนึ่งมาจากการเข้มงวด และขั้นตอนที่มากขึ้นของทั้ง 2 ประเทศ ไทยกับประเทศเมียนมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง