รีเซต

ทำไมต้องเลือกไทย? เป็นฐานผลิตวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า

ทำไมต้องเลือกไทย? เป็นฐานผลิตวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า
TNN ช่อง16
11 พฤศจิกายน 2563 ( 13:24 )
3.3K
ทำไมต้องเลือกไทย? เป็นฐานผลิตวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า

ข่าวสำคัญข่าวหนึ่ง ที่ไม่พูดถึงไม่ได้นั่นก็คือ ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นฐานการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ของอังกฤษ

ล่าสุด แอสตร้าเซนเนก้า กำลังทดลองวัคซีนโควิดตัวอย่างในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย และมีความเป็นไปได้สูงที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งหากได้ผล ก็จะสามารถขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานด้านอาหารและยาของสหราชอาณาจักร และเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อผลิตวัคซีนให้ประชาชนทั่วโลกได้ใช้ทันที

ถามว่า เหตุใด แอสตร้าเซนเนก้า ถึงเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตทั้งๆ ที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอีกหลายประเทศที่น่าสนใจ เรื่องนี้ TNN ได้พูดคุยกับ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จะมาไขความกระจ่างในเรื่องนี้นพ.นคร กล่าวว่า การจะเลือกที่ใดเป็นฐานการผลิตวัคซีนนั้น จะต้องมีการประเมินศักยภาพหลายข้อด้วยกัน ดังนี้

1. ต้องเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนได้จำนวนมาก เนื่องจากแอสตร้าเซนเนก้า มีเป้าหมายในการผลิตวัคซีนให้ได้จำนวนมาก ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้ามีกำลังการผลิตประมาณ 180-200 ล้านโดสต่อปี มีการวางยุทธศาสตร์ว่า แต่ละภูมิภาคจะตั้งฐานการผลิตในประเทศใด ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ละติน ยุโรป รวมไปถึง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วย และอยู่ในหลักการที่ว่า "No profit no loss" ไม่เอากำไร แต่ไม่ขาดทุน

2. นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ต้องความสามารถพอสมควร เนื่องจากแอสตร้าเซนเนก้าต้องเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยี ถ้าเริ่มนับหนึ่งใหม่ จะต้องใช้ระยะเวลานาน ต่อให้มีโรงงานใหญ่แค่ไหนก็ตาม บุคลากรต้องมีความสามารถพอสมควร

3. สายสัมพันธ์ทางธุรกิจ บริษัทปูนซีเมนต์ สยาม ซีเมนต์ กรุ๊ป หรือ SCG ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับ ม.อ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดดังกล่าว รวมทั้ง ม.อ็อกซ์ฟอร์ด ยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งหมดให้กับแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อขยายกำลังการผลิตวัคซีนให้มีจำนวนมาก จึงเป็นส่วนช่วยให้ไทยได้เป็นผู้ผลิตวัคซีน

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ ด้วยกำลังการผลิตปริมาณสูง ทางแอสตร้าเซนเนก้าจึงเลือก "สยามไบโอไซเอนซ์" (Siam Bioscience) ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย เพราะมีประสิทธิภาพในการผลิตได้ถึง 200 ล้านโดสแต่อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ต้องมีเงื่อนไขอย่างแน่นอน เรื่องนี้ นพ.นคร อธิบายด้วยว่า

เงื่อนไขของแอสตร้าเซนเนก้า ในการตั้งฐานการผลิตวัคซีนในประเทศไทย

1.รัฐบาลไทย จะต้องจองซื้อวัคซีนที่สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตไปด้วย โดยอยู่บนหลักการที่ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยคนไทย คนไทยใช้เอง ภายใต้แบรนด์ของแอสตร้าเซนเนก้า 

2.รัฐบาลไทย จะต้องอนุญาตให้ส่งออกวัคซีนโควิดที่ผลิตได้ หากเหลือจากความต้องการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ หมายความว่า หลังจากผลิตวัคซีนออกมา ประเทศไทยอาจจะขอจองไว้ 25 ล้านโดสต่อปี ส่วนวัคซีนที่เหลือแอสตร้าเซนเนก้าจะส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เพราะไม่ต้องการให้กักตุนไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของสาธารณสุข 

3.รัฐบาลไทย จะต้องทำการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า มีการชำระเงินล่วงหน้า ซึ่งอยู่บนความเสี่ยงร่วมกัน เนื่องจากแอสตร้าเซนเนก้า ต้องนำเงินไปซื้อวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตวัคซีน เพื่อที่จะสามารถดำเนินการผลิตได้ทันท่วงทีในกรณีที่วัคซีนทดลองแล้วได้ผลดี แต่ก็จะมีความเสี่ยงว่า หากวัคซีนไม่ได้ผลก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงร่วมกัน ถ้าไม่จองซื้อล่วงหน้าต้องเข้าคิวรอ ก็จะกลายเป็นว่า ไทยเป็นพื้นที่ผลิตวัคซีน แต่ยังไม่ได้ใช้วัคซีนเพราะประเทศอื่นจองล่วงหน้ากันไปหมดแล้ว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประชาชนในประเทศอย่างแน่นอน

"ตอนนี้ทั่วทั้งโลกเริ่มมีการจองซื้อวัตถุดิบเพื่อผลิตวัคซีนเป็นจำนวนมากกว่า 5,000 ล้านโดส เพราะฉะนั้น บรรดาวัตถุดิบจะถูกเร่งผลิต เร่งจอง จึงเป็นที่มาที่เราจะต้องจองวัคซีนล่วงหน้า เพราะหากเราได้วัคซีนช้าไปแม้เพียงแค่ 1 เดือน ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้" นพ.นคร กล่าวสำหรับราคาวัคซีนโควิดของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทยนั้น นพ.นคร กล่าวว่า แอสตร้าเซนเนก้า ยืนอยู่บนหลักการที่ว่า "No profit no loss" ไม่เอากำไร แต่ไม่ขาดทุน เพราะฉะนั้น ราคาจะถูกกว่าวัคซีนที่ผลิตจากประเทศอื่น โดยหากผลการทดลองวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าประสบผลสำเร็จ จะทำให้คนไทยและประเทศในอาเซียนจะเข้าถึงวัคซีนได้ในราคาถูก ส่วนการจำหน่ายให้ประเทศข้างเคียงก็จะราคาเท่ากัน ซึ่งจะทำให้ทั้งภูมิภาคมีความปลอดภัยมากขึ้น

"วัคซีนที่ได้มีการทำสัญญากับทางอ็อกซ์ฟอร์ดนั้น ฉีดฟรีสำหรับคนไทย และไม่มีการหากำไรแต่อย่างใด โดยเป็นการที่รัฐบาลได้มีการเจรจาซื้อสิทธิบัตรมาผลิตแล้วจะให้คนไทยได้ฉีดฟรี"  ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวสำหรับประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับในอนาคตหลังจากเป็นฐานการผลิตวัคซีน ดังนี้

1.การเข้าถึงวัคซีน คนไทยจะสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิดในราคาถูก รวมทั้งประเทศข้างเคียงจะได้ประโยชน์จากวัคซีนด้วย ทำให้ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนมีความมั่นคงในการป้องกันเชื้อไวรัส รวมทั้งไทยไม่ต้องระแวงการนำเข้าเชื้อจากเพื่อนบ้าน

2.เศรษฐกิจจะดีขึ้น ทั้งในเรื่องการเปิดประเทศ การท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างประเทศ รวมไปถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับต่างๆ 

3.ความรู้ ความสามารถ เทคนิค ศักยภาพในการผลิตวัคซีนที่แอสตร้าเซนเนก้าถ่ายทอด สามารถประยุกต์ใช้ในการรับมือโรคระบาดในภายภาคหน้าได้ด้วย 

อัปเดตการพัฒนาวัคซีนในไทย

- วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- วัคซีนชนิด DNA โดย บริษัท ไบโอเนท-เอเซีย จำกัด

- วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากพืช โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด

"ตอนนี้ไทม์ไลน์ยังไม่เปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้ายังเหมือนเดิม ถามว่าวัคซีนไหนมีลุ้นที่สุดยังตอบไม่ได้ เนื่องจากเราต้องซัพพอร์ตทุกตัว ย้ำว่า เราพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้วัคซีน ทั้งวิจัยในประเทศ จัดหาจากต่างประเทศ ถ่ายทอดเทคโนโลยี" ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวย้ำ

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง