รถพลังงานแสงอาทิตย์ พิชิตเส้นทางสุดทรหด 1,000 กิโลเมตรในโมร็อกโก
กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งไอน์โฮเฟน (Technical University of Eindhoven) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ พัฒนารถยนต์พลังแสงอาทิตย์ สเตลล่า เทอร์รา (Stella Terra) ทดสอบวิ่งระยะไกลบนเส้นทางสุดทรหดในประเทศโมร็อกโก เป็นระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตรโดยไม่ต้องแวะชาร์จพลังงานได้สำเร็จ
รถยนต์คันนี้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ด้านบนหลังคารถ และตัวแปลงกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้จ่ายพลังงานในการวิ่งระยะทางใกล้ ๆ หรือในวันที่มีแสงแดดจ้าและในขณะเดียวกัน ก็มาพร้อมกับการติดตั้งแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบชาร์จไฟได้ สำหรับใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับการวิ่งระยะไกลหรือในวันที่มีแสงแดดน้อย
ซึ่งก่อนหน้านี้ทีมพัฒนาก็ได้มีการนำรถไปทดสอบวิ่งบนเส้นทางที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ทั้งบริเวณก้นแม่น้ำที่แห้งแล้ง ป่าทึบ เส้นทางภูเขาสูงชัน และท้องทะเลทรายอันกว้างใหญ่ เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของรถคันนี้
โดย บริตต์ ฟาน ฮัลสท์ (Britt van Hulst) ตัวแทนของทีมนักศึกษากล่าวว่าพวกเขาได้ทดสอบวิ่งรถยนต์คันนี้ โดยเริ่มต้นเส้นทางที่บริเวณทางตอนเหนือของประเทศโมร็อกโก และขับต่อเนื่องเป็นระยะทางหลักพันกิโลเมตร ผ่านภูมิประเทศต่าง ๆ เพื่อสิ้นสุดการเดินทางในทะเลทรายซาฮารา ซึ่งทั้งหมดนี้ตั้งเป้าว่ารถยนต์จะต้องขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด
ซึ่งตอนแรก ทีมพัฒนากล่าวว่าพวกเขาเองก็ไม่แน่ใจว่ารถยนต์จะสามารถทำตามเป้าหมายได้หรือไม่ แต่ปรากฏว่าเมื่อออกเดินทางจริง ๆ พวกเขาก็ค้นพบว่ารถกลับใช้พลังงานน้อยกว่าที่คาดไว้ถึงร้อยละ 30 ทำให้ใช้แค่พลังงานจากแสงอาทิตย์อย่างเดียวก็เพียงพอ และไม่ต้องพึ่งพาการแวะชาร์จพลังงานที่สถานีชาร์จต่าง ๆ เพิ่มเติม
สำหรับรถยนต์ Stella Terra เป็นรถยนต์แบบสองที่นั่ง มีน้ำหนัก 1,200 กิโลกรัม และเป็นรถที่ใช้พลังงานขับเคลื่อนจากแสงอาทิตย์ ผ่านแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ซึ่งช่วยให้สามารถประหยัดพลังงานได้ โดยวิ่งได้เร็วสูงสุด 145 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนเป้าหมายต่อไปทีมพัฒนาหวังว่าภายในระยะเวลา 5-10 ปีต่อจากนี้ จะมีผู้พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่นำเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ทีมพัฒนาขึ้น ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในระบบขับเคลื่อนของรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ เพื่อช่วยผลักดันการสร้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต
ข้อมูลจาก reutersconnect, solarteameindhoven, theguardian