กรมทางหลวง เดินหน้าทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ 35 กม. หนุนรองรับปริมาณจราจรในอีก 20 ปีข้างหน้า
วันที่ 26 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ สนามกีฬาเนินขุมทอง เทศบาลเมืองควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายเศรษฐการ เพชรวารี ปลัดอำเภอหาดใหญ่ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาปฐมนิเทศโครงการ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1) โครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันตก) ในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meeting เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการ ประกอบด้วย ความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ในการศึกษา พื้นที่ศึกษาและแนวเส้นทางโครงการ สภาพแนวเส้นทางในปัจจุบัน ขอบเขตการศึกษาด้านต่างๆ ขั้นตอนดำเนินงาน แนวคิดรูปแบบการพัฒนาโครงการ การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชน ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ และแผนดำเนินงานในการพัฒนาโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม
โดย กรมทางหลวง (ทล.) ได้ดำเนินการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ดำเนินการศึกษาโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันตก) โดยมีขอบเขตการศึกษา ดังนี้ 1.สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานด้านวิศวกรรมและจราจร 2.งานออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) 3.งานศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และ 4.การมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์
สำหรับแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อกับโครงการทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันออก) ที่บริเวณแยกทางหลวงหมายเลข 4135 ใกล้ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ และมีจุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมต่อกับโครงการทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันออก) บริเวณทางหลวงหมายเลข 414 ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ อ.ควนเนียง อ.บางกล่ำ และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีระยะเวลาการศึกษาทั้งหมด 450 วัน
ลักษณะเส้นทางโครงการ จะเป็นทางเลี่ยงเมืองที่เป็นโครงข่ายต่อเนื่องกับทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ด้านตะวันออก ที่ได้ออกแบบไว้เป็นทางหลวงที่มีเขตทาง 60 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร เพื่อรองรับปริมาณจราจรในอีก 20 ปีอนาคต พร้อมจุดตัดทางแยกต่างระดับ บริเวณจุดต้นทาง-ปลายทางของโครงการ ทั้งนี้ในด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ปรึกษาโครงการฯ จะดำเนินการโดยการทบทวนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเดิม ที่จัดทำในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมฯ โครงการ และดำเนินการปรับปรุงหรือประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม โดยจะพิจารณาครอบคลุมปัจจัยสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าคุณภาพชีวิต ในพื้นที่ศึกษาระยะ 500 เมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ แต่สำหรับด้านแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี จะศึกษาในระยะ 1 กิโลเมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ
ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน นำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ เพื่อนำเสนอข้อมูลให้กับประชาชนต่อไป พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ www.western-bypasshatyai.com