มรสุม “Tesla Cybertruck” เมื่อรถที่ควรสร้างชื่อให้ Tesla กลับสร้างเรื่องแทน
เทสลา ไซเบอร์ทรัค (Tesla Cybertruck) รถกระบะพลังงานไฟฟ้าของ Tesla ที่เริ่มวางจำหน่ายในหลายประเทศในราคาเริ่มต้นประมาณ 2.4 ล้านบาท ถูกเรียกคืนทั้งหมดเมื่อวันศุกร์ที่ 19 เมษายนที่ผ่านมากว่า 3,878 คัน เนื่องจากปัญหาคันเร่งค้าง ส่งผลให้ภาพลักษณ์ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่นี่เป็นเพียงหนึ่งในปัญหาที่สั่นคลอนชื่อเสียงของแบรนด์เท่านั้น
ปัญหาคันเร่งสู่การเรียกคืน Cybertruck ทั้งหมด
ปัญหาคันเร่งของ Cyberturck ถูกโพสต์ลงบนติ๊กตอก (TikTok) เอล เชพิโต ไนน์ทีนเอกตีไฟฟ์ (el.chepito1985) เมื่อ 15 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในคลิปได้แสดงให้เห็นว่าแผ่นโลหะส่วนบนของแป้นคันเร่ง สามารถเลื่อนไถลจากโครงสร้างและทำให้คันเร่งค้างได้แม้ว่าจะไม่ได้ออกแรงเหยียบก็ตาม
ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้องค์กรบริหารความปลอดภัยบนท้องถนนของสหรัฐอเมริกา หรือ NHTSA (National Highway Traffic Safety Administration) เข้ามาสืบสวนและสรุปผลว่า Tesla ต้องเรียกคืนรถทุกคันที่ขายแล้วคืนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในขณะที่ฝั่ง Tesla นั้นระบุว่ารับรู้ปัญหานี้เป็นการภายในตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา และเริ่มการเรียกคืนแบบสมัครใจ (Voluntary recall) ตั้งแต่ 12 เมษายน
โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน ผู้ใช้บัญชีเอกซ์ (X, Twitter) ที่ชื่อว่า แอร์รอน แคช (Aaron Cash) ได้โพสต์วิดีโอวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการเจาะรูเพื่อยึดแผ่นโลหะกับฐานแป้นคันเร่งในตำแหน่งที่ไม่ส่งผลกระทบกับระบบคันเร่ง โดยใช้เวลาแก้ไขทั้งหมด 38 วินาที อ้างอิงตามใบรายงานการส่งซ่อมของศูนย์บริการเทสลา
มรสุมปัญหาที่มาพร้อม Cybertruck
ปัญหาคันเร่งเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายปัญหาที่ Tesla Cybertruck ต้องเผชิญ ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เชื่อว่านี่คือหนึ่งในรถสำหรับขาลุยที่ดีที่สุด เพราะมีความทนทานในหลากหลายด้าน แต่กลับมีรายงานปัญหาว่าตัวรถมีปัญหาหยุดทำงานกลางคัน รวมถึงปัญหาตัวถังรถที่ทำจากสเตนเลสกลับขึ้นสนิม และกระจกบังลม (Windshield) แตกเสียหายจากพายุลูกเห็บอย่างง่ายด้วย
อีกทั้งภาพรวมของบริษัทก็อยู่ในช่วงชะลอตัว หลักจากที่หุ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาทำราคาต่ำกว่า 150 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,500 บาทต่อหุ้น จากที่เคยทำราคาสูงสุดในปี 2021 ไว้ที่ช่วง 400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14,700 บาท รวมถึงรายงานการปลดพนักงานทั่วโลกกว่าร้อยละ 10 หรือกว่า 14,000 คน จากผลประกอบการที่ถูกบีวายดี (BYD) แซงยอดขายรถยนต์ EV ในปีที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้เป็นช่วงมรสุมที่ Tesla และ Elon Musk ต้องเผชิญ หลังจากที่โครงการ Cybertruck ที่ Musk วาดฝันไว้ตั้งแต่ปี 2012 และควรวางขายตั้งแต่ปี 2021-2022 แต่กลับเลื่อนการส่งมอบให้กับลูกค้าเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา และตอนนี้มียอดส่งมอบเพียงหลักพันคัน จากยอดการจองทั้งหมดกว่า 2 ล้านคัน
ในขณะที่เบรตต์ ชไรเบอร์ (Brett Schreiber) ทนายความที่มักว่าความให้กับลูกค้า Tesla ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานที่ผิดพลาด ให้สัมภาษณ์กับเดอะ การ์เดียน (The Guardian) ว่า ข่าวด้านลบของ Cybertruck จะไม่จบแต่เพียงเท่านี้ เพราะ Tesla ยึดติดนิสัยความเป็นบริษัทเทคโนโลยีมากเกินไป ที่มุ่งเน้นแต่การส่งมอบ “สินค้า” ให้ไว แต่ไม่ได้ตระหนักมากพอว่าสิ่งที่ส่งมอบไปนั้นคือรถยนต์ที่ต้องวิ่งบนถนนจริง ๆ
ข้อมูลจาก The Guardian, The Verge, Wikipedia
ภาพจาก Reuters