‘ย้อนรอยเหตุสังหารหมู่กวังจู’ ผลจากการใช้กฎอัยการศึก สู่การโค่นล้มอำนาจเผด็จการ
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น จบลงในระยะเวลาเพียงแค่ 6 ชั่วโมงเท่านั้น เมื่อสมาชิกรัฐสภาจากพรรคฝ่ายค้านมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ยกเลิกใช้กฎอัยการศึกครั้งนี้ ด้วยคะแนน 190 คะแนน
การที่ “ยุน” ต้องยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกภายในไม่กี่ชั่วโมง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนเดินหน้าออกมาปกป้องเสรีภาพของประเทศ และมองว่า การกระทำของประธานาธิบดี เป็นการโค่นล้มประชาธิปไตย เพราะนี่เป็นการประกาศใช้ในรอบ 45 ปี นับตั้งแต่เกาหลีใต้เปลี่ยนมาเป็นระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
แต่กว่าที่เกาหลีใต้ จะเป็นประเทศเดินหน้าระบอบประชาธิปไตยแบบเต็มรูปแบบ ต้องผ่านการเรียกร้องมากมาย ที่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อของผู้บริสุทธิ์ ไปตามเส้นทางแห่งการต่อสู้ โดยเฉพาะกับเหตุการณ์สังหารหมู่กวังจู ซึ่งกลายเป็นประตูบานแรก ที่ทำให้ชาวเกาหลีใต้ได้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตยที่เบ่งบานในหัวใจ
---รากฐานเผด็จการแห่งแดนโสมขาว---
เหตุการณ์สังหารหมู่กวังจู เป็นเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารเกาหลีใต้ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 18-27 พฤษภาคม 1980 โดยประชาชนราว 250,000 คน เข้าร่วมการประท้วงครั้งใหญ่ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการปราบปรามทารุณอันโหดร้าย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
แต่ก่อนจะย้อนไปยังวันดังกล่าว เราก็ต้องทำความเข้าใจบริบทก่อนหน้านี้ ว่าอะไรเป็นจุดที่ทำให้เกิดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้
รากฐานของการก่อเหตุจลาจลกวังจู อาจย้อนรอยไปได้ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ นั่นคือ “อี ซึงมัน” ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศมานานถึง 18 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่เข้ามาทำหน้าที่บริหาร ประธานาธิบดีอี มักใช้อำนาจปราบปรามผู้เห็นต่างด้วยความรุนแรง จนนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษาในช่วงต้นปี 1960 ส่งผลให้ประธานาธิบดีอี ถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งในเดือนเมษายน ปี 1960
หลังการลาออกของ “อี ซึงมัน” เกาหลีใต้ได้หันมาใช้ระบบรัฐสภา แต่ก็ใช้ได้แค่เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะต่อมา พล.อ. ปาร์ค ชุงฮี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากประธานาธิบดี “ยุน โบซ็อน” เมื่อเดือนพฤษภาคม 1961 พร้อมแต่งตั้งให้ตนเองกลายเป็นประธานาธิบดีแทน
พล.อ. ปาร์ค ชุงฮี ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศนานถึง 16 ปี โดยระหว่างการทำหน้าที่ เขาดำเนินการปราบปรามผู้เห็นต่าง ควบคุมเสรีภาพสื่อ พร้อมประกาศใช้รัฐธรรมนูญ “ยูชิน” เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตนเอง ก่อนที่ต่อมาจะถูกลอบสังหารในวันที่ 26 ตุลาคม 1979
การเสียชีวิตของ “ปาร์ค จุงฮี” ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายและสุญญากาศทางการเมือง เปิดทางให้ “ช็อน ดูฮวัน” ผู้บัญชาการกองบัญชาการรักษาความมั่นคง ทำการรัฐประหารประเทศอีกครั้ง ยึดอำนาจจากประธานาธิบดี “ชเว คยูฮา” แต่งตั้งตนเองให้เป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งเกาหลีใต้ หรือ KCIA พร้อมประกาศใช้กฎอัยการศึก ในปี 1979 ก่อนที่ต่อมาจะถูกจดจำในฐานะ “ผู้นำเผด็จการแห่งเกาหลีใต้”
---จุดเริ่มต้นการประท้วงครั้งประวัติศาสตร์---
เมื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจ “ช็อน ดูฮวัน” ได้บริหารประเทศภายใต้กฎอัยการศึก และใช้อำนาจไม่ต่างอะไรจากผู้นำทหารคนก่อน ๆ ทั้งยังเข้มงวดหนักขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เดินหน้าปราบปรามผู้เห็นต่างทางเมือง, สั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง, สั่งปิดมหาวิทยาลัย และพื้นที่สาธารณะ ตลอดจนควบคุมสื่อ
หลังต้องตกอยู่ในภาวะการกดขี่เสรีภาพมาอย่างยาวนาน ประชาชนทั่วประเทศต่างก็ลุกฮือประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร นำโดยกลุ่มนักศึกษา, นักสิทธิแรงงาน และ สส.พรรคฝ่ายค้าน เริ่มเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
รัฐบาลทหารดำเนินการจับกุมผู้ประท้วงหลายราย รวมถึงผู้นำฝ่ายค้าน และใช้วิธีการปราบปรามที่รุนแรงกับผู้ชุมนุม จนทำให้การประท้วงเริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วทั้งประเทศ
---เหตุการณ์สังหารหมู่กวังจู---
แต่ขณะที่การประท้วงในเมืองอื่น ๆ ถูกปราบปรามอย่างหนักภายใต้กฎอัยการศึก ประชาชนในกวังจู กลับยังคงต่อสู้กับรัฐบาล จนทำให้ “ช็อน ดูฮวัน” ใช้กำลังปราบปรามกับที่นี่ จนนำไปสู่การสังหารหมู่
วันที่ 18 พฤษภาคม นักศึกษาประมาณ 600 คน มารวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติชอนนัม เพื่อเข้าร่วมการประท้วง แต่พวกเขาก็ถูกทำร้ายโดยทหาร เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้ประชาชนโกรธมากขึ้น และเข้าร่วมขบวนประท้วงกับนักศึกษา
ต่อมา รัฐบาลได้ส่งหน่วยรบพิเศษ เพื่อยุติความไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่กลายเป็นว่า ทหารเหล่านี้ กลับใช้วิธีการรุนแรงมากขึ้นต่อผู้ชุมนุม โดยหวังว่า จะทำให้การประท้วงสิ้นสุด แต่แทนที่การปราบปรามจะทำให้การประท้วงสลายหายไป มันกลับให้ผลตรงกันข้าม ยิ่งรัฐบาลกระทำต่อประชาชนรุนแรงมากเท่าไหร่ ผู้เข้าร่วมชุมนุมก็เพิ่มมากขึ้น
ความขัดแย้งยิ่งยกระดับมากขึ้น จนในที่สุด กลุ่มผู้ประท้วงตัดสินเริ่มตอบโต้กลับ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแท็กซี่หลายร้อยคัน นำขบวนรถบัส, รถบรรทุก และรถยนต์ต่าง ๆ เข้าร่วมการประท้วงด้วย ขณะเดียวกัน สื่อบางเจ้าก็รายงานว่า ผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มอันธพาล ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้กระทั่งให้ข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับการชุมนุม
ความรุนแรงยกระดับถึงขีดสุดในช่วงบ่ายของวันที่ 21 พฤษภาคม เมื่อกองกำลังทหารยิงกระสุนใส่ประชาชนที่รวมตัวกันอยู่ด้านหน้าศาลาว่าการจังหวัดชอลลาใต้ และทางผู้ชุมนุมก็ยิงสวนต่อสู้กลับเช่นกัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
ทั้ง 2 ฝ่ายต่างยิงปะทะ และต่อสู้กันไปมา จนท้ายที่สุด วันที่ 27 พฤษภาคม เมื่อเวลา 04.00 น. รัฐบาลยกระดับยุติการจลาจล ด้วยการส่งรถถัง, อาวุธหนัก และเฮลิคอปเตอร์เข้าปราบปรามอย่างไม่เลือกหน้า และสามารถเข้ายึดพื้นที่กวังจูได้สำเร็จ โดยใช้เวลา เพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น สิ้นสุดการจลาจลที่เกิดขึ้นในกวังจู
---จุดประกายประชาธิปไตยในหัวใจ ปิดตำนานผู้นำเผด็จการ---
รัฐบาล เผยว่า เหตุการณ์สังหารหมู่กวังจูมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 165 คน สูญหาย 65 คน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย เชื่อว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจริงน่าจะสูงกว่านั้นมาก คาดว่า อยู่ที่ราว 600-2,300 คน
แม้ว่าการประท้วงที่กวังจู ประชาชนต้องประสบกับความพ่ายแพ้ และไม่ได้ทำให้ประเทศได้ประชาธิปไตยมาในทันที ส่วน “ช็อน ดูฮวัน” ก็ยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปถึง 2 สมัย พร้อมกับแต่งตั้งให้ “โน แทอู” เข้ามาสืบทอดอำนาจต่อจากเขา
แต่เหตุการณ์ที่กวังจู ยังคงฝังอยู่ในใจของใครหลายคน ประชาชนเริ่มเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จนกระทั่งปี 1992 เกาหลีใต้ก็จัดการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้ “คิม ยองซัม” กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ที่มาจากการเลือกตั้ง
ในยุคประธานาธิบดีคิม มีการปฏิรูปทางการเมือง และเริ่มนโยบายปราบปรามการทุจริต ตลอดจนนำคดีการรัฐประหาร และการสังหารหมู่กวังจู มาพิจารณาคดีขึ้นสู่ศาล ส่งผลให้ “ช็อน ดูฮวัน” และ “โน แทอู” ถูกจับกุมในปี 1995
ศาลตัดสินให้ประหารชีวิต “ช็อน ดูฮวัน” เมื่อปี 1996 แต่ภายหลังก็ได้รับอภัยโทษ และเสียชีวิตในปี 2021 ด้วยวัย 90 ปี ปิดตำนานผู้นำเผด็จการทหารแห่งเกาหลีใต้
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.britannica.com/event/Gwangju-Uprising
https://en.wikipedia.org/wiki/Gwangju_Uprising
https://thediplomat.com/2022/05/how-activists-kept-the-memory-of-the-gwangju-uprising-alive/