รีเซต

เรื่องราวของ “ศพใต้ผืนทราย" ริมแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์

เรื่องราวของ “ศพใต้ผืนทราย" ริมแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์
TNN World
25 พฤษภาคม 2564 ( 09:29 )
172


ศรัทธา ความเชื่อ ประกอบกับความยากจน ความกลัว และวิกฤตโควิดที่ยังมีผู้เสียชีวิตหลายพันคนต่อวัน ทำให้เกิดเรื่องราวสลด ชาวอินเดียนำศพผู้เสียชีวิตโควิด ฝังริมแม่น้ำคงคา จนท้ายสุดเมื่อฝนตก น้ำขึ้น ศพเหล่านี้ก็ล่องลอยไปตามแม่น้ำ สร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนในพื้นที่

 

 


แม่น้ำคงคาที่ต้องแบกรับทุกสรรพสิ่ง      

 

                                                                                                     

“คงคา” แม่น้ำสายศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของชาวฮินดู ทุกสรรพสิ่งทั้งดีและร้าย แม่น้ำคงคารับภาระได้หมด ชำระล้างบาป สะสางสิ่งชั่วร้ายออกจากกายและใจ ใครจะทำ ใครจะคิดอะไร แม่น้ำสายนี้ ยังไหลเอื่อยผ่านหลายหมู่บ้าน หลายเมืองและหลายรัฐก่อนออกสู่ทะเล โดยที่ไม่รู้ตัวเองว่า เราคือแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนให้ความเคารพและพึ่งพาตั้งแต่เกิดยันตาย 

 


การมาแวะเยือนโลกของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายประเทศทั่วโลก ที่ยากจนอยู่แล้ว ยิ่งสาละวันเตี้ยลง ความเป็นอยู่ดิ่งลงต่ำกว่าเส้นกั้นความยากจน คือมีรายได้ไม่ถึงวันละ 30 บาทต่อวัน ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างกว้าง 

 


อินเดียสังคมพหุวัฒนธรรม ความแตกต่างที่หลากหลายทางสังคม เชื้อชาติ ศาสนาและวรรณะชนชั้น ที่บางครอบครัวยากจนหาเช้ากินค่ำอยู่แล้ว ก็ต้องตกงานกลับบ้านเกิด อยู่กินกันตามอัตภาพ ตั้งแต่โควิด-19 มาเยือนรอบแรก แต่มาหนักหน่วงรุนแรงมากขึ้นจากการระบาดรอบสองด้วยโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดีย ที่ทั่วโลกขยาด เพราะติดต่อง่ายและเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม และระบาดไปทุกหัวระแหงในอินเดีย เดือดร้อนหนักที่สุด คือคนยากจน ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก น้ำจะท่วม ภัยแล้ง คนจนรับหมด 

 


ศพที่ไหลลงแม่น้ำ


ไม่กี่วันที่ผ่านมา ขณะที่อินเดียถูกรุมเร้าอย่างหนักด้วยโควิดทำให้ผู้คนติดเชื้อทะลุวันละ 4 แสน และตายจนเผาและฝังไม่ทันวันละ 3-4 พันคนติดต่อกันหลายวัน ทำให้ทั่วโลกได้เห็นภาพศพหลายร้อยศพลอยเกลื่อน ขึ้นอืดไปตามแม่น้ำ หรือไม่ก็ฝังไว้ใต้ผืนทรายริมแบบลวก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำ รอน้ำขึ้นหรือฝนตกพาเอาซากศพลอยลงแม่น้ำ 


ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับที่ที่พบศพมาเกยตื้น ในรัฐอุตตรประเทศ ทางภาคเหนือของประเทศ ก็หวาดผวากันว่า ศพเหล่านี้ คือเหยื่อโควิด-19 อย่างไม่ต้องสงสัย


ศพที่ฝังกลบอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ถูกนำไปเผาตลอด 24 ชั่วโมง จนไม่มีพื้นที่ว่างเหลือให้เผาศพแล้ว เรื่องนี้บ่งบอกให้รู้ว่ายังมีศพอีกจำนวนมากที่ถูกฝังไปโดยไม่ได้แจ้ง และไม่มีอยู่ในข้อมูลของทางการ

 


ชาวบ้านอกสั่นขวัญแขวน


สำนักข่าว BBC ได้พูดคุยกับนักข่าวท้องถิ่น เจ้าหน้าที่และผู้เห็นเหตุการณ์ในหลายเขตที่มีการระบาดรุนแรงที่สุดของรัฐอุตตรประเทศ และพบว่า เบื้องหลังของศพลอยอืดเกลื่อนแม่น้ำคงคา เป็นเพราะความเชื่อดั้งเดิม ความยากจนและโรคระบาดที่ได้คร่าชีวิตผู้คนรวดเร็วดุจสายฟ้าแลบ

 


ความอกสั่นขวัญแขวนในรัฐอุตตรประเทศ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในวันที่ 10 พฤษภาคม เมื่อ 71 ศพลอยมาเกยตื้นริมฝั่งแม่น้ำคงคาในหมู่บ้านชอชา รัฐพิหาร ใกล้พรมแดนรัฐอุตตรประเทศ

 


นีรัจ กุมาร สิงห์ ผู้กำกับการตำรวจอำเภอบักซาร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชอชา กล่าวกับ BBC ว่า มีการชันสูตรศพที่ส่วนใหญ่เน่าเปื่อยแล้ว เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่าง DNA และศพก็ฝังในหลุมใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ 

 

 

ตำรวจต้องตั้งตาข่ายดักศพ


เจ้าหน้าที่บอกว่า บางศพเหลือแต่ชิ้นส่วนแล้ว หลังทำการเผาริมฝั่งแม่น้ำปกติ แต่เจ้าหน้าที่สงสัยว่า ศพเหล่านี้ เผายังไม่เสร็จดีก็ถูกทิ้งลงในแม่น้ำ ตำรวจจึงต้องติดตั้งตาข่ายข้ามฝั่งเพื่อดักจับศพที่ลอยมาตามน้ำ

 


ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ห่างจากหมู่บ้านชอชา ประมาณ 10 กิโลเมตร พบศพเน่าเปื่อยอีกหลายสิบศพเกลื่อนริมฝั่งแม่น้ำในหมู่บ้านกาห์มาร์ เขตกาซีปุระ รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งมีสุนัขจรจัดและฝูงกากำลังรุมแทะศพอย่างน่าสะอิดสะเอียน ชาวบ้านในท้องถิ่น กล่าวว่า ศพเหล่านี้ลอยมาติดสันเขื่อนกั้นน้ำหลายวันแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็เพิกเฉย ไม่ได้สนใจเสียงร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับกลิ่นเหม็นรุนแรง จนกระทั่งมีข่าวการพบศพลอยมาตามแม่น้ำในรัฐพิหาร พาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ พวกเจ้าหน้าที่จึงขยับก้นจากเก้าอี้มาตรวจสอบสถานการณ์ ซึ่งกลายเป็นเรื่องราวที่โลกต้องจดจำและจารึก

 


นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสิบศพที่ขึ้นอืดและเน่าเฟะ ลอยตามแม่น้ำ ไปทักทายชาวบ้านในเขตบัลเลีย ที่อยู่ใกล้กัน เมื่อพวกเขาไปเล่นน้ำในช่วงเช้าในแม่น้ำสายศักดิ์สิทธิ์ที่สุดสายนี้ หนังสือพิมพ์ฮินดูสถานรายงานว่า ตำรวจเก็บกู้ศพขึ้นมาได้ 62 ศพ

 

 

เนินดินซ่อนศพ


ส่วนในอำเภอกันเนาว์ กานปุระ อุนเนา และประยาคราช (Prayagraj) พบหลุมตื้น ๆ จำนวนมากเรียงรายกันอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา คลิปวิดีโอที่ส่งถึง BBC ซึ่งถ่ายริมฝั่งแม่น้ำคงคาบริเวณสะพานเมห์นดี กาต ในกันเนาว์ แสดงให้เห็นเนินดินขนาดเท่าร่างคนจำนวนมาก ดูผ่าน ๆ คล้ายพื้นผิวขรุขระของท้องน้ำ แต่ว่าเนินดินแต่ละแห่งกลับซุกซ่อนศพไว้ โดยบริเวณสะพานมหาเทวี ที่อยู่ใกล้เคียงกัน พบศพเพิ่มอีกอย่างน้อย 50 ศพ 

 


สำหรับอำเภอประยาคราช เป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในรัฐอุตตรประเทศ และมีความสำคัญทางศาสนาฮินดู เพราะเป็นจุดที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามสายคือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา และแม่น้ำสรัสวดี มาบรรจบกัน ซึ่งเรียกว่าจุฬาตรีคูณ
จำนวนผู้เสียชีวิตมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก 

 


ความเชื่อเรื่องการลอยศพในแม่น้ำ


ตามประเพณีแล้ว ชาวฮินดูใช้วิธีการเผาศพผู้เสียชีวิต แต่หลายชุมชนปฏิบัติตามแนวความเชื่อที่เรียกว่า "จัล ประวาห์" (Jal Pravah) ซึ่งเป็นการนำศพของเด็ก เด็กสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน และผู้ที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ หรือถูกงูกัด ไปลอยในแม่น้ำคงคา 
ประชาชนที่มีฐานะยากจนจำนวนมาก ไม่มีปัญญาเผาศพ เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงห่อศพด้วยผ้าฝ้าย หรือมัสลิน จากนั้นก็ผลักลงในแม่น้ำ มีบางครั้งศพก็ถูกถ่วงด้วยหินเพื่อรับประกันว่า ศพจะจมอยู่ใต้น้ำ แต่หลายศพก็ถูกลอยโดยไม่มีการถ่วงน้ำหนัก 
แม้แต่ในช่วงเวลาปกตินั้น ศพที่ลอยอยู่ในแม่น้ำคงคา ไม่ใช่เรื่องแปลก เห็นกันอยู่เป็นประจำ

 

 

ความคลาดเคลื่อนของตัวเลขผู้เสียชีวิต


แต่สิ่งที่ผิดปกติคือ การพบศพจำนวนมากภายในระยะเวลาอันสั้น และในหลายพื้นที่ตามริมฝั่งแม่น้ำ ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งในเมืองคานปูร์ บอกกับ BBC ว่า ซากศพที่เห็นเหล่านี้คือหลักฐาน "ของความคลาดเคลื่อนครั้งใหญ่ระหว่างตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ของทางการและตัวเลขที่แท้จริงในพื้นที่"

 


เขากล่าวว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิดในเมืองคานปูร์ของทางการระหว่างที่ 16 เมษายน ถึง 5 พฤษภาคม อยู่ที่ 196 ศพ แต่ข้อมูลจากฌาปนสถาน 7 แห่ง ระบุว่ามีการเผาศพเกือบ 8,000 ศพ ซึ่งตัวเลขแตกต่างกันมากอย่างไม่เน่าเชื่อ

 


 “เมรุเผาศพที่ใช้ไฟฟ้าทุกแห่ง เผากันตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันในเดือนเมษายน ขนาดนั้นยังไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงอนุญาตให้ใช้พื้นที่ด้านนอกเผาด้วยไม้ฟืน” เขากล่าว 

 


“แต่พวกเขารับเฉพาะศพที่มาจากโรงพยาบาลที่มีใบรับรองว่าเสียชีวิตจากโควิดเท่านั้น และยังมีอีกจำนวนมากที่เสียชีวิตที่บ้าน โดยที่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรค ครอบครัวของพวกเขานำศพไปนอกเมือง หรือไปยังเมืองที่อยู่ใกล้กัน เช่นอุนเนา แต่เมื่อพวกเขาหาฟืนไม่ได้ หรือไม่มีที่เผา พวกเขาก็จะฝังศพไว้ตามริมฝั่งแม่น้ำ”

 


นักข่าวคนหนึ่งในเมืองประยาคราช กล่าวว่า เขาเชื่อว่า ศพจำนวนมากที่ลอยมาตามน้ำ มีทั้งผู้ป่วยโควิดที่เสียชีวิตที่บ้านโดยไม่ได้มีการตรวจร่างกาย หรือคนยากจนที่ไม่สามารถหาที่เผาศพได้ 

 


“มันช่างเป็นเรื่องที่น่าปวดใจ ทุกคนล้วนมีลูกชาย ลูกสาว พี่น้อง และพ่อแม่ ผู้วายชนม์สมควรได้รับความเคารพ แต่พวกเขากลับไม่ แม้แต่เป็นส่วนหนึ่งของสถิติ พวกเขาเสียชีวิตโดยไม่มีใครรู้และฝังก็ไม่มีใครสนใจเช่นกัน”  

 

 

ฝังศพตั้งแต่เวลา 07.00 น. จนถึง 23.00 น.


การค้นพบหลุมศพและศพที่เน่าเปื่อย และความกลัวว่า ศพเหล่านี้อาจติดเชื้อโคโรนาไวรัส ได้ส่งคลื่นช็อกแทรกซึมเข้าทุกหมู่บ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ

 


แม่น้ำคงคา ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย เป็นหนึ่งในแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดของโลก ศาสนาฮินดูถือว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาเชื่อว่า การอาบน้ำชำระล้างร่างกายในแม่น้ำคงคา จะเป็นการล้างบาปที่ติดตัวของพวกเขาและใช้น้ำในแม่น้ำสายนี้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาด้วย

 


ในเมืองคานเนาว์, จักโมฮัน ทิวารี ชาวบ้านวัย 63 ปี กล่าวกับทีวีท้องถิ่นว่า เขาเห็นหลุมศพ “150-200 หลุม” ริมฝั่งแม่น้ำ การฝังศพเริ่มตั้งแต่เวลา 07.00 น. จนถึง 23.00 น. “มันเป็นการทำลายจิตวิญญาณ”

 


การค้นพบหลุมศพจำนวนมาก จุดชนวนให้เกิดความตื่นตระหนกในพื้นที่ ประชาชนกลัวว่า เมื่อฝนตก หรือน้ำขึ้น ศพเหล่านี้ก็จะถูกกระแสน้ำชะลงไปลอยอยู่ในแม่น้ำอย่างไม่ต้องสงสัย 

 

 

รัฐบาลห้ามนำศพไปลอยแม่น้ำ


เมื่อวันพุธที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลของรัฐห้าม "จัล ประวาห์" คือการเอาศพไปลอยในแม่น้ำคงคา พร้อมกับเสนอมอบเงินให้กับครอบครัวยากจนที่ไม่มีทุนในการทำพิธีเผาศพได้ ในหลายพื้นที่ ตำรวจดึงศพขึ้นจากแม่น้ำและประกาศรับสมัครคนพายเรือเพื่อคอยสอดส่องนำศพขึ้นฝั่ง สำหรับในเมืองคานเนาว์แล้ว ศพที่เน่าเปื่อยจะถูกนำมาทั้งฝังในหลุม หรือเผาบนกองฟืน

 


วีปิน ตาดา ผู้กำกับการตำรวจในเมืองบัลเลีย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังพูดคุยกับบรรดาผู้นำหมู่บ้านเพื่อแจ้งให้พวกเขาได้ทราบว่า ไม่ควรจะนำศพไปลอยในแม่น้ำสายต่าง ๆ และว่า คนที่ไม่สามารถประกอบพิธีเผาศพได้ สามารถมาร้องขอความช่วยเหลือทางการเงินได้

 


แต่แม้จะมีทีมออกลาดตระเวนตามแนวเขื่อนและสถานที่เผาศพตามริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อห้ามประชาชนไม่ให้ทิ้งศพลงในน้ำ หรือไม่ให้ฝัง เจ้าหน้าที่ก็ยังคงพบเห็นหนึ่งหรือสองศพในแม่น้ำทุกวัน

 

 

อินเดียเสียชีวิตจนเผาไม่ทัน


อินเดียตายล้นเมืองจากการระบาดของโควิดระลอกสองในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ และทำสถิติเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ทะลุ 300,000 คนแล้วในวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม ถือเป็นชาติที่ 3 ของโลกที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300,000 คน รองจากสหรัฐฯและบราซิล 

 


ขณะนี้ อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางโลกในการระบาดของไวรัสโควิด เพราะยังคงถูกรุมเร้าจากไวรัสมรณะอย่างรุนแรงต่อเนื่อง บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า จำนวนที่แท้จริงของผู้เสียชีวิตอาจสูงกว่านี้มาก เพราะยังมีผู้เสียชีวิตอีกมากที่ไม่ได้บันทึกอย่างเป็นทางการ
ตายเกินวันละ 3,000 หรือเกือบ 4,000 คนขนาดนี้ ยังไงก็คงเผากันไม่หวาดไม่ไหว และจะยังเป็นปัญหากับคนยากจน เพราะฉะนั้น การฝังศพใต้ผืนทรายและทิ้งลงในแม่น้ำ จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง