รีเซต

จริงหรือไม่? สารกันบูดในปลาทูนึ่ง หากสัมผัสโดนจะเป็นมะเร็งผิวหนัง

จริงหรือไม่? สารกันบูดในปลาทูนึ่ง หากสัมผัสโดนจะเป็นมะเร็งผิวหนัง
TNN ช่อง16
29 มกราคม 2566 ( 20:25 )
127

ตามที่ได้มีการเตือนภัยเรื่องสารกันบูดในปลาทูนึ่ง หากสัมผัสโดนจะเป็นมะเร็งผิวหนัง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ 


กรณีชวนเชื่อเรื่องสุขภาพที่ระบุว่าให้ระวังปลาทูใส่สารกันบูด หากสัมผัสโดนสารกันบูดจะทำให้เป็นมะเร็งที่มือ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลวิชาการที่บ่งชี้ว่าการสัมผัสสารกันบูดส่งผลให้เกิดมะเร็งผิวหนัง และกระบวนการผลิตปลาทูนึ่งถือเป็นการถนอมอาหารอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยรักษาคุณภาพปลาทูไว้ทำให้สามารถเก็บไว้ได้ในระยะหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องใส่สารกันบูด 


ทั้งนี้ สารกันบูด เป็นสารที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาโดยการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุการเน่าเสียของอาหาร ตัวอย่างของสารกันบูด เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก พาราเบนส์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และซัลไฟต์ เป็นต้น โดยสารกันบูดที่อนุญาตให้ใช้จะผ่านการประเมินความปลอดภัยและมีการกำหนดปริมาณที่บริโภคได้ต่อวัน นอกจากนี้ เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคได้มีการการสุ่มตรวจหรือสำรวจปริมาณการตกค้างของสารเหล่านี้ให้อยู่ในค่าไม่เกินมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ 



ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02-202-6800 


บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลวิชาการที่บ่งชี้ว่าการสัมผัสสารกันบูดส่งผลให้เกิดมะเร็งผิวหนัง และกระบวนการผลิตปลาทูนึ่งถือเป็นการถนอมอาหารอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่สารกันบูด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง