รีเซต

'องอาจ' ไม่อยากกลุ่มราษฎร ปฏิเสธการพูดคุย หลังไม่ร่วมสังฆกรรม กก.สมานฉันท์

'องอาจ' ไม่อยากกลุ่มราษฎร ปฏิเสธการพูดคุย หลังไม่ร่วมสังฆกรรม กก.สมานฉันท์
มติชน
5 พฤศจิกายน 2563 ( 10:44 )
62
'องอาจ' ไม่อยากกลุ่มราษฎร ปฏิเสธการพูดคุย หลังไม่ร่วมสังฆกรรม กก.สมานฉันท์

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มราษฎรประกาศจุดยืนไม่ร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า เป็นสิทธิของกลุ่มราษฎรที่จะแสดงออก ถือเป็นเรื่องปกติที่อาจมีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย แต่ขณะนี้คณะกรรมการฯยังไม่เกิดขึ้น เป็นเพียงขั้นตอนการหารูปแบบที่เหมาะสมตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าช่วยใช้พื้นฐานทางวิชาการด้านการแก้ไขความขัดแย้ง และการแก้ปัญหาแบบสันติวิธีช่วยออกแบบคณะกรรมการ ยังไม่เป็นข้อยุติว่าจะให้มีรูปแบบคณะกรรมการหรือรูปแบบอื่นก็ยังไม่ชัดเจน จึงยังไม่อยากให้ปฏิเสธช่องทางการมีเวทีพูดคุยกันของฝ่ายผู้ชุมนุม หรือฝ่ายเรียกร้องกับฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะการมีเวทีพูดคุยกันจะช่วยทำให้รับฟังกันอย่างจริงจังมากขึ้น หันหน้าเข้าหากันเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันบนพื้นฐานของการยึดเอาส่วนรวมและประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง

 

“ผมเชื่อมั่นว่าการมีเวทีพูดคุยกันจะช่วยหาทางออกได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่การปฏิเสธเวทีทำให้ไม่มีการพูดคุยกัน ก็จะทำให้แต่ละฝ่ายเพิ่มแรงเผชิญหน้ากันมากยิ่งขึ้น และอาจทำให้ประเทศชาติเดินหน้าสู่สภาวะอันตราย จึงอยากให้แต่ละฝ่ายคิดทบทวนให้ถ่องแท้ก่อนว่าจะสนับสนุน หรือไม่สนับสนุนการมีคณะกรรมการเพื่อหาทางออกให้ประเทศ”นายอองอาจ กล่าว

 

นายองอาจ กล่าต่อว่า สำหรับการวิจารณ์ตำหนิตัวบุคคลระดับอดีตนายกรัฐมนตรีว่าเหมาะสมหรือไม่นั้น ไม่อยากให้ติเรือทั้งโกลน เพราะยังไม่ชัดเจนว่ารูปแบบคณะกรรมการฯเป็นอย่างไร จะมีใครเป็นกรรมการบ้าง การดำเนินการขณะนี้เป็นเพียงแนวคิด เป็นเพียงตุ๊กตาที่ยังไม่มีข้อสรุป ข้อเสนอให้มีคณะกรรมการเพื่อทางออกให้ประเทศไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัวว่ารูปแบบคณะกรรมการควรเป็นอย่างไร ใครควรอยู่ในคณะกรรมการบ้าง ข้อสรุปสุดท้ายอาจไม่ใช้รูปแบบคณะกรรมการ อาจใช้รูปแบบอื่นที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ก็เป็นไปได้ ดังนั้นการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรูปแบบ หรือตัวบุคคลควรเป็นไปอย่างสร้างสรรค์เพื่อช่วยกันทำงานแก้ปัญหามากกว่าโจมตีกัน ก่อให้เกิดบรรยากาศที่ขุ่นมัวมากขึ้นโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้การแสวงหาทางออกให้ประเทศอาจมีหลายช่องทาง การใช้เวทีรัฐสภาก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งพอจะทำประโยชน์ได้บ้าง น่าจะเป็นผลดีต่อบ้านเมืองมากกว่าปล่อยให้สถานการณ์เดินไปจนถึงทางตัน ทุกฝ่ายจึงควรช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง