รีเซต

โซเชียลเจ็บแค้น วล็อกเกอร์สาวชนบทจีนถูกสามีบุกเผา - สิ้นใจในที่สุด

โซเชียลเจ็บแค้น วล็อกเกอร์สาวชนบทจีนถูกสามีบุกเผา - สิ้นใจในที่สุด
ข่าวสด
5 ตุลาคม 2563 ( 02:36 )
545

โซเชียลเจ็บแค้น - เซาท์ไชนา มอร์นิง โพสต์ รายงานเบื้องหลังคดีสะเทือนขวัญจากความรุนแรงในครอบครัว เมื่อวล็อกเกอร์สาวชาวจีน วัย 30 ปี ชื่อ ลามู ( Lamu) ถูกสามีเก่าบุกเผาทั้งเป็น จนหญิงสาวถึงแก่ความตาย เป็นคดีที่สร้างความเจ็บแค้นให้ผู้คนจำนวนมาก ต่างแสดงความเห็นทางโซเชียลมีเดีย

https://www.youtube.com/watch?v=NmHcQ1vHh3E&feature=emb_logo 

 

ลามูเป็นวล็อกเกอร์เชื้อสายทิเบต เผยแพร่วิดีโอแสดงภาพวิถีชีวิตในชนบทแถบเทือกเขา เขตจิ้นฉวน มณฑลเสฉวน ภาคตะวันตกของจีน มีทั้งภาพการใช้ชีวิตประจำวัน ทำกับข้าว ร้องเพลง ลิปซิงก์ และแต่งชุดพื้นเมืองทิเบต หญิงสาวมีผู้ติดตามในตู้หยิน โซเชียลมีเดียติ๊กต็อก เวอร์ชั่นจีน อยู่มากกว่า 885,000 ราย

 

 

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. สามีเก่าแซ่ถัง บุกมาที่บ้านของหญิงสาวราดน้ำมันและจุดไฟเผาลามู บาดเจ็บสาหัส ก่อนถูกย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลในตัวเมืองของเสฉวน วันที่ 17 ก.ย.พี่สาวเผยว่าร่างกายน้องถูกไฟคลอกถึง 90%

 

แฟนคลับต่างระดมเงินช่วยค่ารักษาลามูได้ถึง 1 ล้านหยวน หรือราว 5 ล้านบาท แต่แพทย์ไม่อาจรั้งชีวิตไว้ได้ ลามูสิ้นใจเมื่อวันที่ 1 ต.ค. แฟนคลับหลายหมื่นคนต่างโพสต์ข้อความแสดงความเสียใจ และติดแฮชแท็ก #คดีลามู และแฮชแท็ก #ลามูถูกสามีเก่าเผาตาย ซึ่งแฮชแท็กหลังถูกเซ็นเซอร์ออกไป

 

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันวันที่ 2 ต.ค. ว่า สามีเก่าเป็นผู้ลงมือขณะภรรยาเก่าตอนกำลังไลฟ์สดทางสื่อโซเชียลดังกล่าว จากการสอบสวนพบว่า ฝ่ายชายเคยทำร้ายร่างกายลามูมาก่อน

 

"ถ้าเราไม่นับว่าเธอเป็นคนดังทางอินเตอร์เน็ต เธอก็คือผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่โชคร้าย ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว ถูกทำร้าย และถูกข่มขู่คุกคาม" คอมเมนต์หนึ่งเขียน โดยมีผู้กดไลก็มากกว่า 28,000 ไลก์

 

 

ลามู และนายถัง สามีเก่าผู้ก่อเหตุ

มีบางคนเขียนเรียกร้องให้คนร้ายถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิต

จีนมีคดีความรุนแรงในครอบครัวเป็นคดีดังหลายคดีที่ก่อให้เกิดกระแสสังคมเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติหาหนทางที่สร้างความยุติธรรมให้เหยื่อมากกว่านี้

 

 

เมื่อเดือนมิถุนายน หญิงที่มณฑลเหอหนาน โดดจากชั้นสองของอาคาร เพื่อหนีสามีที่ไล่ทำร้าย จนตกลงมาบาดเจ็บหนักเป็นอัมพาต ทั้งที่ก่อนหน้านั้นหญิงสาวขอหย่าแล้ว แต่กลับถูกปฏิเสธ ศาลมาอนุญาตให้ภายหลังจากที่คดีนี้เป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจทั่วโซเชียล

คดีเหยื่อที่เหอหนาน

 

เดือนมิถุนายนอีกเช่นกัน ทางการเมืองอี้อู๋ ภาคตะวันออก ตรากฎหมายให้สตรีตรวจสอบประวัติคู่หมั้นได้ก่อนแต่งงานว่าฝ่ายชายเคยก่อความรุนแรงในครอบครัวมาแล้วหรือไม่ สร้างความยินดีให้กับกลุ่มรณรงค์สิทธิสตรีอย่างกว้างขวาง

 

อย่างไรก็ตาม จีนไม่มีสถิติตัวเลขคดีความรุนแรงในครอบครัวเลย เคยมีอยู่ปีเดียวคือปี 2559 ทำให้สังคมไม่ทราบสถานการณ์โดยรวม โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท

 

นอกจากนี้ ทางการเพิ่งจะเปลี่ยนกฎเกณฑ์ด้านพลเรือนให้มีช่วงเวลาประนีประนอมแก่คู่สมรสที่ต้องการหย่า 30 วัน สร้างความวิตกว่า หญิงที่เป็นเหยื่อความรุนแรงจะพ้นชะตากรรมร้ายได้ยากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง