รีเซต

'จรัญ' ชี้ความรุนแรงในครอบครัว ร้ายกว่าโควิด-19 แนะ นายกฯ เป็นตัวอย่างไม่ใช้ความรุนแรง

'จรัญ' ชี้ความรุนแรงในครอบครัว ร้ายกว่าโควิด-19 แนะ นายกฯ เป็นตัวอย่างไม่ใช้ความรุนแรง
มติชน
30 พฤศจิกายน 2564 ( 11:45 )
65
'จรัญ' ชี้ความรุนแรงในครอบครัว ร้ายกว่าโควิด-19 แนะ นายกฯ เป็นตัวอย่างไม่ใช้ความรุนแรง

  “ความรุนแรงเป็นพฤติกรรมอันตราย เป็นโรคร้ายที่เกาะกินผู้ที่หลงติดเชื้อ เริ่มจากระบบจิตใจ แล้วค่อยๆ ส่งให้เกิดพฤตินิสัย วาจา การกระทำ การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงตอบโต้ เป็นอย่างนี้อยู่ทั่วโลก”

 

ศาตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกริ่นในการร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงาน พม. ทอล์ก “ครอบครัววิถีใหม่รับมืออย่างไรกับความรุนแรงในครอบครัว” จัดโดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เนื่องในวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว

 

ศาตราจารย์พิเศษ จรัญ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สร้างผลเสีย 3 ด้านคือ 1.ผู้ถูกกระทำ นอกจากความเจ็บช้ำ ยังสูญเสียความมั่นใจในชีวิต 2.ผู้กระทำ มีสถานภาพในสังคมและครอบครัวตกต่ำ เพราะถูกมองเป็นคนอันตราย ซึ่งในหลักพุทธศาสนาเตือนไว้ว่า พวกมีพฤติกรรมรุนแรง บั่นปลายท้ายที่สุดจะตายอย่างโดดเดี่ยว จะมีชีวิตช่วงวัยอ่อนกำลังที่ไม่มีใครเหลียวแล เพราะแม้แต่คนที่รักแสนรักยังทำร้ายเขาได้ นี่คือผลผลิตที่ร้ายแรงกระทบทุกฝ่าย และ3.พฤติกรรมรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว องค์กร หรือสังคมใด ครอบครัวนั้นจะถือเป็นครอบครัวที่โชคร้าย เป็นองค์กรที่ตกต่ำในสายตาประชาชน แม้แต่สังคมระดับชาติจะถูกประณามจากสังคมโลก ว่าเป็นสังคมด้อยพัฒนาขาดอารยธรรมของสันติวิธี

 

  “ถ้ารัฐบาลใดใช้พฤติกรรมรุนแรงกับประชาชน โดยไม่มีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น รัฐบาลนั้นจะเป็นรัฐบาลที่ประชาชนเมินหน้าหนี และนี่คือปัญหาของความรุนแรง ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้หญิง เด็ก ผู้สูงวัย หรือแม้แต่คนพิการ แต่มันเกิดขึ้นกับทุกคน เผชิญภัยกับโรคนี้ ไม่มีวัคซีนหรือยารักษา ร้ายยิ่งกว่าโควิด-19 มะเร็ง แต่เราไม่รู้สึก เพราะเราไม่ยังประสบกับมัน”

 

“หากท่านเป็นคนที่มีพฤติกรรมรุนแรง แรกๆ จะรู้สึกว่าตัวเองทรงพลัง สามารถสยบคนที่ไม่พอใจได้อย่างเด็ดขาด แต่หลังจากนั้นพอเริ่มคิด สติ และสำนึกในศีลธรรมอันดีกลับคืนมา ท่านจะทุกข์ระทมกับมันตลอดไป นี่คือความร้ายแรงของความรุนแรง”

 

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวอีกว่า ที่องค์การสหประชาชาติเน้นย้ำเรื่องนี้ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของสงครามโลก สงครามกลางเมือง สงครามระหว่างชนชั้น สงครามระหว่างระหว่างรัฐบาลและประชาชน ที่ไม่ควรทำสงครามกันเลย แม้แต่สงครามศาสนา ซึ่งมาจากการปล่อยให้คนติดโรคนี้แพร่กระจาย โดยเฉพาะการปล่อยให้คนเหล่านี้ได้ขึ้นไปเป็น ผู้ทรงอำนาจ แกนนำ หรือหัวหน้า ก็จะพาทั้งทีมไปสู่ความเสื่อม ตกต่ำเลวร้าย

 

ทั้งนี้ เคยคิดว่าสงครามโลกเป็นความรุนแรงที่ร้ายที่สุด แต่พอได้มาเรียนรู้ปัญหาร่วมกับ พม. พบความจริงว่า ความรุนแรงในครอบครัวมีความร้ายแรงและลึกลับซับซ้อนมากที่สุด ตั้งแต่ความรักความผูกพันที่ถูกทำให้แตกสลาย แต่ไม่สามารถตัดรักหักอาลัยหนีหายจากมันได้ รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สมาชิกในครอบครัว ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ที่สำคัญเป็นปัญหาเกิดขึ้นในรั้วบ้าน เสมือนเป็นระเบิดที่ไม่มีเสียง บางครั้งเรื่องเกิดในห้องนอน คนนอกห้องนอนก็ไม่รับรู้ อีกทั้งยังมีมุมมองว่าเรื่องผัวเมีย ลูกข้าเมียข้าใครอย่าแตะ ทำให้แม้แต่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองผู้ถือกฎหมาย ก็เข้าไปช่วยเหลือไม่ได้ จนกว่าจะมีหมายค้นจากศาล ขณะที่ตัวผู้ถูกกระทำความรุนแรงเองก็ไม่ร้องทุกข์

 

ก่อนเสนอ 2 แนวทางแก้ปัญหาคือ 1.การที่คนทุกภาคส่วน ทุกวงการจะมาร่วมกัน ตั้งแต่ผู้บริหารภาครัฐส่วนกลาง ผู้บริหารส่วนภูมิภาค ผู้บริหารภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน ต้องรับรู้ถึงปัญหาและเสริมกำลังเข้าไปช่วย

 

  “เรื่องนี้ผู้นำ ผู้บริหาร และผู้เป็นโรลโมเดลในสังคมไทย ต้องเป็นตัวแบบที่ถูกต้อง ถ้าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเป็นผู้ติดโรคร้าย ทำอันตรายต่อคนในบ้านตัวเอง ไม่ว่าจะคนที่รักแสนรัก คนที่มีบุญคุณต่อเขายังทำร้ายได้ ไม่ต้องพูดถึงประชาชนอย่างเราเลย ฉะนั้นคิดว่าท่านนายกรัฐมนตรี ต้องห้ามใช้ความรุนแรงเด็ดขาด เพราะท่านจะเป็นตัวแบบให้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งระบบ”

 

2.บังคับใช้กฎหมายจริงจัง ปัจจุบันมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทํารุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ที่ประกาศว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นอาชญากรรมชนิดหนึ่ง เปิดช่องให้คนพบเห็นเหตุการณ์ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ช่วยผู้ถูกกระทำออกมาได้ ส่วนคนที่ติดโรคร้ายก็นำไปบำบัดฟื้นฟู ไม่ใช่เอาไปขังห้องขังเท่านั้น ต้องใช้ควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ตลอดจนการให้มี พ.ร.บ.ป้องปรามพฤติกรรมรุนแรงและคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงนอกครอบครัว อีกสักฉบับ เพื่อดูแลผู้ถูกกระทำความรุนแรงนอกครอบครัว เช่น ในพื้นที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

  ร่วมยุติความรุนแรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง