รีเซต

เกาหลีใต้ขาดแคลน "กิมจิ" อาหารประจำชาติ เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน

เกาหลีใต้ขาดแคลน "กิมจิ" อาหารประจำชาติ เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน
TNN ช่อง16
30 กันยายน 2565 ( 19:16 )
111

ใครจะคาดคิดว่า วันหนึ่งอาหารประจำชาติของเกาหลีใต้อย่าง "กิมจิ" จะอยู่ในภาวะขาดแคลน ซึ่งมีผลมาจากภาวะโลกร้อน ขณะที่ การขายกิมจิจากเกาหลีใต้เป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น เพราะกิมจิจากจีนราคาถูกกว่ามากทีเดียว 

คนงานในโรงงานกิมจิแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ทำงานอย่างกระตือรือร้นในสายการผลิตเหมือนอย่างทุก ๆ วัน ขณะที่ผู้ผลิตกิมจิของเกาหลีกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนกะหล่ำปลี ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ราคากิมจิพุ่งสูงขึ้นในปีนี้  

และยังได้รับผลกระทบจากจีนที่ไม่มีปัญหาการขาดแคลนกะหล่ำปลี และสามารถขายกิมจิได้ในราคาถูกอีกด้วย

อัน อิก จิน (Ahn Ik-jin) ผู้บริหารระดับสูงของ Cheongone Organic ผู้ผลิตกิมจิรายใหญ่ หนึ่งในบริษัทที่ประสบปัญหาในการซื้อกะหล่ำปลีให้เพียงพอเพราะราคาที่สูงขึ้น กล่าวว่า จำเป็นต้องจัดหากะหล่ำปลีที่มีคุณภาพต่ำลง เพื่อให้ยังสามารถผลิตต่อไปได้ 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องขึ้นราคาขายกิมจิอีกราว 2 ใน 3 เป็น 5,000 วอน หรือราว 131 บาทต่อกิโลกรัม

อัน อิก จิน กล่าวว่า ที่นี่เคยผลิตกิมจิได้ 15 ตันต่อวัน แต่ตอนนี้ผลิตได้เพียง 10 ตันหรือน้อยกว่านั้น และตนเองต้องการมาตรการในการจัดหากะหล่ำปลีคุณภาพดีที่ดีกว่านี้ 

โดยเมื่อไม่นานนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้วางแผนที่จะสร้างโรงเก็บกะหล่ำปลีขนาดใหญ่สองแห่งภายในปี 2025 ด้วยเงินลงทุน 58,000 ล้านวอน หรือ 1,525 ล้านบาท

ทั้งนี้อุตสาหกรรมกิมจิในท้องถิ่นของเกาหลีใต้ค่อย ๆ หดตัวลงมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะกิมจิของจีน มีราคาแค่ประมาณหนึ่งในสามของกิมจิที่ผลิตในท้องถิ่น และเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยคิดเป็นร้อยละ 40 ของตลาดกิมจิในพื้นที่ที่มีการขายกิมจิเชิงพาณิชย์

จากข้อมูลของ Korea Rating & Data เมื่อปีก่อน ผู้ผลิตกิมจิเกือบครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 1,000 รายของเกาหลีใต้ปิดตัวลงอย่างถาวร หรือชั่วคราว หรือรายงานผลประกอบการเป็นศูนย์ 

ผู้ผลิตกิมจิของเกาหลีหวังว่าอย่างน้อยแผนของรัฐบาลจะป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตที่ปลูกเองสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม การส่งออกกิมจิของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เป็นมูลค่า 160 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว หลังวัฒนธรรมเกาหลีได้รับความนิยมมากขึ้นจากซีรีส์สควิดเกม และวงบอยแบนด์เคป็อปอย่างบีทีเอส

แต่ผู้คนในประเทศก็มีความกังวลมากขึ้นเช่นกันว่าการขาดแคลนกะหล่ำปลีจะทำให้ประเพณี 'คิมจัง' หรือการทำและแบ่งปันกิมจิในหมู่ครอบครัว เพื่อนฝูง และชุมชน ซึ่งมักทำในช่วงเดือนพฤศจิกายน ค่อย ๆ หายไป

จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตฮานาโร มาร์ท ระบุว่า ยอดขายกิมจิสำเร็จรูปได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน.


ภาพจาก jcomp on Freepik


อัพเดทข่าวไฮไลต์และบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ มาเป็นเพื่อนใน Line กับ TNN World คลิก https://lin.ee/LdHJXZt

ติดตาม TNN World ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/TNNWorld

Website : https://bit.ly/TNNWorldWebsite

Youtube : https://bit.ly/TNNWorldTodayYouTube

TikTok : https://bit.ly/TNNWorldTikTok

ข่าวที่เกี่ยวข้อง