เตรียมเปิด "สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี" เฟสแรก 25 ธ.ค.นี้
วันนี้(15 ต.ค.64) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี (ช่วงที่ 2) จากถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล ณ บริเวณสะพานลอยคนข้าม ตรงข้ามซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 เขตสาทร
กรุงเทพมหานคร มีนโยบายพัฒนาคลองในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้สามารถระบายน้ำได้ดี มีความสะอาด และมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม ซึ่งคลองช่องนนทรีเป็นคลองที่มีศักยภาพในการพัฒนาดังกล่าว
เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตเมืองที่มีประชาชนสามารถเข้าถึงจำนวนมาก มีเส้นทางคมนาคมสะดวก มีถนนตัดผ่านหลายสาย มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน รวมทั้งภาคเอกชนในพื้นที่ยังพร้อมให้ความร่วมมือร่วมพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี กรุงเทพมหานครจึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี รวมถึงพัฒนาพื้นที่โดยรอบเป็นสวนสาธารณะ ที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย และปลอดภัย โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้เป็นต้นแบบการจัดการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคลองต่างๆ ของกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน
"วันนี้คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ซึ่งพื้นที่โครงการเริ่มต้นจากถนนสุรวงศ์จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร เมื่อรวม 2 ฝั่ง จะมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 9 กิโลเมตร โครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 ช่วง โดยเริ่มก่อสร้างในช่วงที่ 2 ก่อน จากถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ธ.ค.64 ซึ่งจะเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ ในรูปแบบสวนสาธารณะเลียบคลอง สำหรับนั่งเล่นพักผ่อน เดินวิ่งออกกำลังกาย รวมถึงมีการออกแบบแยกชั้นในการรองรับน้ำ โดยน้ำฝนอยู่บนไหลลงตามคลอง และน้ำทิ้งอยู่ล่างผ่านท่อระบายน้ำใต้คลอง ส่วนช่วงที่ 1, 3, 4, และ 5 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือน ส.ค.65 " ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว
สำหรับโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี มีพื้นที่โครงการเริ่มต้นจากถนนสุรวงศ์จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางรวมประมาณ 4.5 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่เขตบางรัก เขตสาทร และเขตยานนาวา โดยโครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 ช่วง ประกอบด้วย
1.โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงถนนสุรวงศ์ ถึงถนนสาทร
2.โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7
3.โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึงถนนจันทน์
4.โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงถนนจันทร์ ถึงถนนรัชดาภิเษก
5.โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงถนนรัชดาภิเษก ถึงถนนพระราม 3 ทั้งนี้ โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ได้ดำเนินการพัฒนาคลองในรูปแบบของสวนเลียบคลอง หรือ Linear Park ซึ่งมีแนวคิดสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.เขียว 2.คลอง 3.คน และ4. ความรู้
โดย 1.เขียว สื่อถึงพื้นที่สีเขียวที่จะถูกพัฒนาขึ้นตลอดแนวริมคลองทั้ง 2 ฝั่ง
2.คลอง สื่อถึงความผูกพันระหว่างกรุงเทพมหานครกับสายน้ำที่มีมาแต่โบราณ โดยในอดีตนอกจากบรรพบุรุษของเราจะใช้คลองเป็นปราการสำคัญในการป้องกันเมืองแล้ว
ยังใช้เป็นเส้นทางสำหรับการสัญจรและการค้าขายอีกด้วย
3.คน สื่อถึงการเชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่ 3 เขตได้แก่ บางรัก สาทร และยานนาวา ตลอดเส้นทางที่คลองช่องนนทรีทอดตัวไหลผ่าน จากถนนสุรวงศ์ ถนนสีลม ถนนสาทร ถนนจันทน์ ถนนรัชดาภิเษก ไปจนถึงถนนพระรามที่ 3 รวมระยะทางทั้งสิ้น 4.5 กิโลเมตร
4.ความรู้ คือการวางเป้าหมายให้สวนสาธารณะคลองช่องนนทรีแห่งนี้ เป็นพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์และการเรียนรู้ของประชาชน รองรับวิถีชีวิตยุคใหม่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง พัฒนาทางสาธารณะ ปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองช่องนนทรี รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อน เส้นทางออกกำลังกาย อาทิ วิ่ง เดิน และปั่นจักรยาน ตลอดจนเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการสัญจรด้วยการเดินเท้า เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมืองอย่างแท้จริง
ปัจจุบันสำนักการโยธา ดำเนินการก่อสร้างโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงที่ 2 จากถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร ประกอบด้วย งานปรับปรุงทางเท้า งานก่อสร้างลานกิจกรรม งานก่อสร้างสวนสาธารณะ งานติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง งานตอกเสาเข็มและโครงสร้างทางเดินเลียบคลอง โดยบูรณาการร่วมกับสำนักการระบายน้ำ วางแผนการบริหารจัดการน้ำภายในคลองช่องนนทรี เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครในระยะยาว ตลอดจนเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองที่ดีบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป
ข้อมูลจาก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
ภาพจาก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์