รีเซต

ยานฉางเอ๋อ-6 ของจีน ลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์สำเร็จ เตรียมเก็บตัวอย่างหินส่งกลับโลก

ยานฉางเอ๋อ-6 ของจีน ลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์สำเร็จ เตรียมเก็บตัวอย่างหินส่งกลับโลก
TNN ช่อง16
2 มิถุนายน 2567 ( 15:15 )
47

วันที่ 2 มิถุนายน เวลาประมาณ 06.23 น. ตามเวลากรุงปักกิ่งประเทศจีน องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เปิดเผยว่ายานฉางเอ๋อ-6  ได้ร่อนลงจอดบริเวณแอ่งขั้วใต้-เอตเคน (South Pole-Aitken Basin) ของดวงจันทร์ หลังจากยานอวกาศลำนี้ออกเดินทางจากโลกในวันที่ 3 พฤษภาคม จากศูนย์อวกาศเหวินชาง ประเทศจีน โดยมีภารกิจสำคัญในการรวบรวมหินจากด้านไกลของดวงจันทร์ส่งกลับมายังโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์


การลงจอดบนดวงจันทร์ของยานฉางเอ๋อ-6 นับเป็นภารกิจที่เสี่ยงเป็นอย่างมาก เนื่องจากด้านไกลของดวงจันทร์หันหลังให้กับโลกอยู่ตลอดเวลา การติดต่อสื่อสารกับยานฉางเอ๋อ-6 จำเป็นต้องใช้ดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว-2 ทำหน้าที่ทวนสัญญาณให้กับยานฉางเอ๋อ-6 


เมื่อยานฉางเอ๋อ-6 บินอยู่เหนือพื้นผิวดวงจันทร์ประมาณ 100 เมตร เครื่องสแกนภาพ 3 มิติ โดยใช้แสงเลเซอร์หรือเทคโนโลยีไลดาร์ (LIDAR) จะทำงานเพื่อตรวจสอบพื้นผิวดวงจันทร์ก่อนยานร่อนลงจอดในแนวตั้งฉากอย่างช้า ๆ นอกจากนี้ในระหว่างการลงจอดยานฉางเอ๋อ-6 จะต้องหลับหลีกสิ่งกีดขวางบนพื้นผิวดวงจันทร์โดยอัตโนมัติ หากมีการตรวจพบในระยะใกล้


ภารกิจหลังจากนี้ของยานฉางเอ๋อ-6 จะเป็นการเก็บข้อมูลพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์เพิ่มเติม รวมไปถึงเก็บตัวอย่างหินบนดวงจันทร์น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม บริเวณแอ่งขั้วใต้-เอตเคน (South Pole-Aitken Basin) เพื่อส่งกลับมายังโลก โดยใช้หัวสว่านและแขนกลที่ติดตั้งอยู่กับตัวยานทำหน้าที่เก็บตัวอย่างหินดังกล่าว  


สำหรับพื้นที่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ปัจจุบันประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีอวกาศหลายประเทศกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์คาดว่าเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญบนดวงจันทร์ เช่น น้ำแข็ง ซึ่งสามารถใช้ในการดำรงชีวิตของนักบินอวกาศ และเชื้อเพลิงให้กับจรวดขนส่งอวกาศ หากมีการก่อสร้างสถานีสำรวจบนดวงจันทร์ระยะยาวในอนาคต


นับเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของวงการอวกาศจีน หลังจากก่อนหน้านี้จีนประสบความสำเร็จในการนำยานฉางเอ๋อ-4 ลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์มาแล้วในปี 2019 และทำให้จีนกลายเป็นประเทศแรกที่นำยานอวกาศลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จ รวมไปถึงภารกิจฉางเอ๋อ-5 ที่นำตัวอย่างหินด้านใกล้ของดวงจันทร์จากบริเวณที่เรียกว่ามหาสมุทรแห่งพายุ (Oceanus Procellarum) ส่งกลับกลับมายังโลกในปี 2020


ที่มาของข้อมูล BBC, Space


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง