“ชวน–นิพนธ์” บุกเฉินตู ประเทศจีนดูเทคโนโลยีโดรน เร่งรับมืออนาคตการเกษตรทันสมัย

วันที่ 25 พฤษภาคม 2568 นายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำคณะผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วมการดูงานด้านเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Drone Technology) ณ เมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีบริษัทชั้นนำจากจีนหลายนำเสนอนวัตกรรมและแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงหลายภาคส่วนในระดับโลกจากการนำเสนอของบริษัทต่าง ๆ พบว่าจีนมีความก้าวหน้าอย่างมากในเทคโนโลยีโดรน ทั้งด้านการเกษตรแบบแม่นยำ (Precision Agriculture) การขนส่งสินค้า การเฝ้าระวังพื้นที่ และโดรนที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ AI ซึ่งสามารถประมวลผลร่วมกับเครือข่าย 5G ได้แบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะการพัฒนา “โดรนแท็กซี่” ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนทดลองใช้งาน และมีแนวโน้มว่าจะสามารถให้บริการจริงในอนาคตอันใกล้ เพื่อรองรับระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับโครงสร้างเมืองยุคใหม่
สำหรับภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลไกหลักของเศรษฐกิจไทย เทคโนโลยีโดรนจากจีนได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพ่นสารเคมี ตรวจวิเคราะห์สภาพพืชผล และประเมินผลผลิตล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ลดต้นทุนแรงงาน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในพื้นที่เกษตรขนาดใหญ่ได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกหนึ่งมิติที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือด้านความมั่นคง โดยจีนได้พัฒนาโดรนสำหรับภารกิจทางยุทธศาสตร์ เช่น การเฝ้าระวังชายแดน การลาดตระเวนทางอากาศ และการส่งสัญญาณภาพจากพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเชื่อมโยงกับศูนย์ข้อมูลกลางและระบบวิเคราะห์ภาพถ่ายอัจฉริยะ ซึ่งขณะนี้ได้ถูกรวมไว้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ความมั่นคงระดับชาติของจีนแล้ว
การดูงานในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าหากประเทศไทยต้องการก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก จำเป็นต้องเร่งปรับตัวในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเกษตรกรและกำลังพลที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้งพื้นที่นำร่องสำหรับทดสอบเทคโนโลยี รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศ
จีนได้ยกระดับตัวเองเป็นศูนย์กลางของการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีโดรนระดับโลกแล้ว ขณะที่ไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น การสร้างความร่วมมือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ และการเปิดพื้นที่เรียนรู้จากต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเกษตรและระบบความมั่นคงของไทยสู่ยุคใหม่อย่างยั่งยืน