6 สัญญาณเตือน พายุฤดูร้อนกำลังมา จะรับมือได้อย่างไร?

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ 6 สัญญาณเตือน พายุฤดูร้อนกำลังมา รู้ทันเพื่อเตรียมตัวรับมืออย่างปลอดภัย
ช่วงปลายฤดูร้อนของไทย หลายพื้นที่มีโอกาสสูงที่จะเผชิญกับ พายุฤดูร้อน ซึ่งมักก่อให้เกิดทั้งฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และบางครั้งอาจมีลูกเห็บตก หากสังเกตสัญญาณต่อไปนี้ได้ทัน จะช่วยให้คุณเตรียมตัวรับมือได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น
1. อากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน
ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดพายุฤดูร้อน มักจะมีอากาศร้อนจัดติดต่อกันหลายวัน โดยอุณหภูมิกลางวันกลางแจ้งอาจพุ่งสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
2. ความชื้นสัมพัทธ์สูงเกิน 70%อากาศจะรู้สึกเหนียวตัว หนักอึ้ง และอบอ้าวผิดปกติ เพราะมีทั้งความร้อนและความชื้นสะสมในระดับสูง เป็นสภาพที่เอื้อต่อการก่อตัวของพายุอย่างมาก
3. ท้องฟ้าขมุกขมัว มีเมฆหนา
สังเกตได้ว่าเมฆจะลอยสูง สีเทาเข้ม และเริ่มปกคลุมท้องฟ้ามากขึ้นจนดูมืดครึ้มกว่าปกติ
4. ลมสงบนิ่งผิดสังเกต
ในช่วงที่อากาศอบอ้าวจัด ลมจะเริ่มสงบนิ่งผิดปกติ ทำให้อากาศเหมือนจะ "หยุดนิ่ง" ซึ่งเป็นสัญญาณว่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรวดเร็ว
5. ลมแรงกระโชก ก่อนฝนตก
หลังจากลมสงบไม่นาน ลมจะเริ่มพัดแรงขึ้นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เมฆจะก่อตัวหนาทึบอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยฟ้าแลบ และฝนตกปรอยๆ
6. ฝนฟ้าคะนอง ลมแรง ตามด้วยอากาศเย็นลง
พายุจะเคลื่อนตัวเข้ามาพร้อมฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นอากาศจะเย็นลง ท้องฟ้ากลับมาแจ่มใส และทัศนวิสัยดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อสังเกตเห็นสัญญาณเหล่านี้ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง รีบหาที่กำบังที่แข็งแรง ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด และติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและคนที่คุณรัก