เกาหลีใต้พัฒนาขาเทียมเบ้ารับขาแบบพองได้อัตโนมัติ ลดความเจ็บปวดของผู้พิการ
ขาเทียมเป็นนวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผู้พิการมาอย่างยาวนานแล้ว ทว่ามันยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างคือหากเบ้ารับด้านในของขาเทียม ไม่พอดีกับส่วนโค้งของตอขาของผู้ใช้ มันก็อาจส่งผลต่อความเจ็บปวดและอาจเกิดแผลบริเวณนั้นได้ แต่ดูเหมือนเรากำลังจะมีสิ่งประดิษฐ์ที่แก้ปัญหานี้ได้ คือขาเทียมที่เบ้ารับสามารถพองตัวเองเพื่อรองรับให้พอดีกับขาของผู้ใช้งาน
สิ่งประดิษฐ์ต้นแบบนี้พัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเครื่องจักรและวัสดุแห่งเกาหลีใต้ เพื่อผู้พิการที่ถูกตัดขาบริเวณเหนือเข่า ตัวขาเทียมด้านนอกเป็นวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ ส่วนเบ้ารับซับในเป็นวัสดุอีลาสโตเมอร์ ซึ่งเป็นโพลีเมอร์ชนิดหนึ่งที่มีความสามารถในการคืนรูปเดิมได้หลังจากถูกยืด อัด หรือทำให้เสียรูป มันออกแบบมาให้พองได้ โดยมีปั๊มไฟฟ้าที่ติดตั้งภายนอกซึ่งจะเชื่อมต่อกับซับใน และควบคุมการพองโดยอัลกอริธึม AI
ที่มารูปภาพ KIMM
ขณะที่ผู้ขาเทียมเดิน เซ็นเซอร์ในตัวจะตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของแรงกดจากตอขาไปยังเบ้ารับขาเทียม ซึ่งแรงกดตรงนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งวัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนโลหิตรวมถึงปัจจัยอื่น ๆ หากเซ็นเซอร์ตรวจจับว่าเกิดช่องว่างระหว่างตอขากับเบ้ารับ อัลกอริธึมก็จะตอบสนองโดยการเปิดใช้งานปั๊ม ทำให้เบ้ารับพองออกมาพอดีกับตอขา
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือตอขาของผู้ใช้งานจะพอดีกับเบ้ารับขาเทียมตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเดินบนทางราบ ขึ้นบันได พื้นเอียง หรือเพิ่มลดระดับความเร็วในการเดิน เบ้ารับขาเทียมก็จะพอดีตลอดเวลา นอกจากนี้หากผู้ใช้รู้สึกว่ามันแน่นหรือหลวมเกินไป ก็สามารถปรับได้ด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชันที่ให้มาด้วย
ที่มารูปภาพ KIMM
นับเป็นอีกก้าวของสิ่งประดิษฐ์เพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง ซึ่งแน่นอนว่าหากพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตเราอาจมีสิ่งประดิษฐ์อวัยวะเทียมที่ทำงานได้ไม่แตกต่างจากแขนขาจริง ๆ ของเราก็ได้
ที่มารูปภาพ KIMM