รีเซต

เตรียมอย่างไรให้จากไปแบบสงบ ทำความรู้จัก ‘Living Will’ ในไทย เมื่อเราสามารถออกแบบวาระสุดท้ายของชีวิตได้

เตรียมอย่างไรให้จากไปแบบสงบ ทำความรู้จัก ‘Living Will’ ในไทย เมื่อเราสามารถออกแบบวาระสุดท้ายของชีวิตได้
TNN ช่อง16
27 สิงหาคม 2565 ( 08:00 )
123
เตรียมอย่างไรให้จากไปแบบสงบ ทำความรู้จัก ‘Living Will’ ในไทย เมื่อเราสามารถออกแบบวาระสุดท้ายของชีวิตได้

แม้คนเราไม่สามารถหนีพ้น ‘ความตาย’ ได้ แต่จะดีหรือไม่ ถ้าหากเราสามารถเลือกที่จะออกแบบวาระสุดท้ายของชีวิตได้ ด้วยการทำหนังสือ ‘Living Will’ ให้ตัวเองได้จากไปอย่างสงบ ไม่ต้องทรมาน เพียงแค่ให้ตนเองได้เดินทางไปสู่โลกใบใหม่ ด้วยการปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของชีวิต 


---เตรียมก่อนตาย---


“Living Will คือหนังสือแสดงเจตนาที่จะไม่ขอรับการรักษาที่ไม่มีประโยชน์ สำหรับเราในวาระสุดท้าย ซึ่งเราสามารถขอรับการดูแลเท่าที่จำเป็น ที่จะให้เราจากไปอย่างสบายไม่ทุกข์ทรมาน” อภิชญา กล่าว 


หญิงวัยกลางคน สวมใส่เสื้อลายดอกไม้สีสันสดใส เหมือนกับใบหน้าของเธอที่คอยยิ้มแย้มตลอดเวลา เธอคือ ‘อภิชญา วรพันธ์’ คุณแม่ลูกสอง และเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เธอคือ บุคคลหนึ่งที่ได้ทำหนังสือ ‘Living Will’ หรือ หนังสือเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในช่วงสุดท้ายของชีวิต 


เธอตัดสินใจทำหนังสือดังกล่าว แบบเป็นกิจลักษณะ หลังจากการเสียชีวิตของสามีอย่างกะทันหัน รวมถึงช่วงเวลาดังกล่าว เธอได้สูญเสียแม่ และพี่ชายติดกันภายในระยะเวลา 9 เดือน 


“ตอนหลังสามีเสียชีวิต ด้วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เราก็หาเอกสารอะไรไม่เจอ เลยคิดว่าจะรวบรวมเอกสารสำคัญที่จำเป็นต้องใช้มาไว้ที่เดียวกัน และมาคิดว่า ถ้าอยู่ดี ๆ เราเกิดเสียชีวิตกะทันหัน ลูกยังไม่ถึง 20 ปี เขาจะจัดการอย่างไร ถ้าเกิดเราอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถตัดสินใจเองได้” เธอ กล่าว 


นอกจากนี้ การที่อภิชญาได้เห็นการเตรียมการจากไปของคุณพ่อด้วยตัวเอง ทำให้เธอรู้สึกว่า การเตรียมตัวเพื่อการเสียชีวิตเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้เธอสามารถจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ได้ ในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะอย่างครบถ้วน และไม่เป็นการสร้างความหนักใจให้แก่ลูกหลาน


“คุณพ่อเป็นคนที่เตรียมตัวมาก ตอนนั้นดิฉันยังไม่เคยได้ยินคำว่า Palliative Care เลย อยู่มาวันหนึ่งคุณพ่อเดินมาบอกว่า ‘พ่อเตรียมพระใส่กล่องไว้ อันนี้ไว้สำหรับแจกงานศพพ่อนะ ลูกทำแค่เอาสติ๊กเกอร์มาแปะ’ ตอนนั้นดิฉันคิดว่าคุณพ่อต้องเตรียมมากขนาดนี้เลยหรอ” อภิชญา กล่าว 


อภิชญา วรพันธ์ ผู้ทำหนังสือ Living Will

 


---ความตายควรพูดได้ทุกช่วงของชีวิต---


หลายครั้งที่เราพูดถึงเรื่อง ‘ความตาย’ สังคมไทยมักจะถือคติว่าเป็นลางไม่ดี  เป็นสิ่งไม่มงคล หรือแม้กระทั่งเป็นการแช่งตัวเองให้จากไปก่อนวัยอันควร แต่สำหรับอภิชญา เธอมองว่า การพูดคุยในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ปกติมากสำหรับคนในครอบครัวเธอ แต่ก็มีบางส่วนมองว่า การที่เธอวางแผนเรื่องหลังความตาย เปรียบเสมือนการสั่งเสีย 


“ให้เรียกว่า การแสดงเจตนาดีกว่า ว่าเราต้องการอย่างไร...มีเหมือนกันที่ถามว่า เราคิดมากไปหรือเปล่า แต่เราก็มองว่า บางอย่างเราเตรียมการไว้มันก็ดีกว่า” เธอ กล่าว 


ลูกชายของอภิชญาป่วยด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่เด็ก และการที่เธอได้เคยดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care อยู่บ่อยครั้ง ทำให้เธอตระหนักถึงเรื่องความตายได้ชัดเจนขึ้น 


“อย่างคนไข้หลายคนที่เราได้ดูแลกัน เป็นเด็กหลาย ๆ คนก็เสียชีวิต ถ้าบางคนก็จะบอกว่า จากไปในวัยที่ไม่ควรเลย แต่จริง ๆ แล้วดิฉันว่าไม่มีอะไรหรอกค่ะ ที่ควรหรือไม่ควร มันอยู่ที่ว่าเวลาเขามีแค่ไหนมากกว่า เพราะฉะนั้นดิฉันก็มองว่าไม่ว่าวัยไหนหรอกค่ะ ถ้าเขาหมดเวลา เขาก็หมดเวลา เขาก็เสียชีวิต” 


“ความตายมันหนีกันไม่ได้ มันไม่เลือกวัย ไม่เลือกเวลา” 


อภิชญาและครอบครัว

 

 


---สิทธิการตายดี ไม่ใช่ ‘การเร่งให้ตาย’---


แนวคิดเรื่อง Living Will มีผลทางกฎหมายครั้งแรกในสหรัฐฯ เมื่อปี 1976 ว่าด้วยกฎหมายการตายตามธรรมชาติ หรือ Natural Death Act ส่วนของประเทศไทย ปรากฎอยู่ใน ‘พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550’ มาตรา 12 ที่ระบุไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้” ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2010 


โดยช่วงแรก Living Will ยังไม่ค่อยมีคนสนใจที่จะทำมากนัก และหลายคนเข้าใจผิดว่า คิดว่า การขอจากไปอย่างสงบ เป็นการการุณยฆาต 


“การการุณยฆาตมันคือการขอเสียชีวตโดยไม่ทรมาน สำหรับในรายที่เป็นโรคที่รักษาไม่ได้ โดยคุณหมอจะเป็นคนช่วยเหลือในขั้นตอนนี้ ซึ่งมันจะต้องถูกต้องตามกฎหมาย ณ ประเทศที่อนุญาตให้ทำได้ ส่วน Living Will มันก็คือการขอเสียชีวิตอย่างธรรมชาติ ตามธรรมชาติของคนนั้น ๆ ตามสังขารของตัวเองที่จะรับไหว” อภิชญา กล่าว 


อภิชญา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันคนไทยรับรู้เรียนรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับ Living Will มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะสังเกตหลายคนพยายาม มองหาว่าจะเขียนยังไงดี จะเอารูปแบบอย่างไร ซึ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน 


“การทำบางอย่างมันไม่ได้มีประโยชน์ที่จะทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ อย่างเช่น ต้องอยู่กับท่อช่วยหายใจไปนาน ๆ โดยที่เรานอนอยู่เฉย ๆ ไม่รับรู้ บางมันทำให้คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกเรา สามีเรา หรือญาติเป็นทุกข์มากกว่า ถ้ามองว่ามันไม่มีประโยชน์กับการใช้ชีวิต เราก็ขอการจากไปที่เป็นธรรมชาติ” 


แฟ้มที่รวบรวมเอกสารสำคัญต่าง ๆ ของอภิชญา รวมถึงหนังสือ Living Will

 


---ค่านิยม ‘กตัญญู’ กับการยื้อชีวิต---


แม้สังคมจะตระหนักถึงเรื่องความเป็น และความตายมากขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงบางอย่างที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในครอบครัว ด้วยสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่อาจมีคำว่า ‘ความกตัญญู’ เข้ามาเกี่ยวข้องต่อการตัดสินใจในเรื่องของการจากไปอย่างสงบ หลายครอบครัวเลือกที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วยให้ได้นานที่สุด โดยหวังว่า อาจจะมีปาฏิหารย์เกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยเอง


อภิชญา กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ในผู้ป่วยบางราย สมมติถ้าหมอปั๊มหัวใจขึ้นมา แล้วมีชีวิตต่อขึ้นมาแต่ก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม ต้องนอนอยู่กับท่อช่วยหายใจเหมือนเดิม มันไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับผู้ป่วยเลย การอยู่มันไม่ได้มีคุณภาพชีวิต กินอาหารก็ต้องใส่สายยาง ญาติต้องมาคอยเฝ้า มาคอยหาคนดูแล ถ้าเราสามารถที่จะเสียชีวิตอย่างสงบ ตามสังขารของเรา ไหวแค่ไหนก็ได้แค่นั้น ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรที่จะต้องมายื้อ มันก็น่าจะดีกว่า 


“การที่เราดูแลกัน เอื้ออาทรกันตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ มันมีคุณค่าทางใจกับผู้ที่เราปฏิบัติต่อเขามากมาย เพราะว่าเขารับรู้ได้ เขาสัมผัสได้ แต่ตอนที่เขาจะเสียชีวิต บางทีมันไม่ใช่การแสดงความกตัญญู บางทีมันอาจจะเป็นการที่เขาไม่เข้าใจสถานการณ์ หรือไม่เข้าใจว่าทำอย่างนี้ มันจะทำให้เขาอาจจะมีชีวิตต่อไหม แต่ถ้ามีชีวิตต่อที่ไม่มีคุณภาพชีวิต นอนอยู่อย่างนั้น บางทีเขาก็ไม่ได้รับรู้แล้วค่ะ” เธอ กล่าว  


---วางแผนการจากไป ให้เหมือนไปเที่ยว---


ความตั้งใจของอภิชญาในการจากไปอย่างสงบ ไม่ได้เพียงแค่ต้องการแสดงเจตนาต่อตัวเธอเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการวางแผนให้กับลูก ๆ ของเธอได้ตัดสินใจ และสามารถจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ในช่วงที่เธออาจจะไม่สามารถลุกขึ้นมาตัดสินใจได้เองอีกแล้ว 


อภิชญา กล่าวว่า ถ้าไม่ได้ทำหนังสือ Living Will ไว้ อาจจะทำให้ญาติหรือลูก รู้สึกเหมือนว่า "เราไม่ช่วยเขาหรือเปล่า" แต่ถ้าตัวผู้ป่วยได้แสดงเจตนาไว้ เธอคิดว่ามันจะตัดสินใจง่ายกับหลาย ๆ ฝ่าย และก็ลดปัญหาหลายอย่าง


“อย่างน้อยเราได้วางแผนไว้ มันก็ดีกว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย หรือให้ชีวิตเราไปอยู่ในมือของคนอื่น คือดิฉันมองว่าถ้าเราเขียน Living Will ไว้ แสดงเจตนาไว้ว่าดิฉันต้องการแบบนี้ อย่างน้อยก็เป็นการแสดงเจนาของตนเอง ว่าเราต้องการเสียชีวิตตามธรรมชาติ ขอการดูแลแค่ไม่ทรมาน” 


“เรื่องความตายเป็นเรื่องที่เราน่าจะต้องวางแผน เหมือนกับเรื่องเที่ยว เวลาเราจะไปเที่ยว เราจะต้องวางแผนกัน จะไปไหน กินร้านไหน นัดแนะกัน แต่เราไม่เคยคิดจะวางแผนในเรื่องสำคัญของตัวเองเลย” อภิชญา กล่าว 

—————

เรื่อง-ภาพ: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง