"เกาหลีใต้" กับ วิกฤต "อุตสาหกรรมภาพยนตร์" เมื่อ"หนังโรง"ไม่ฮิต ไม่ทำเงินอีกต่อไป ?

เกาหลีใต้ เจอ วิกฤต "โรงหนัง" ขาลง ?
เกาหลีใต้เจอกับวิกฤตคนไม่เข้าโรงหนัง ทำให้หนังฟอร์มยักษ์หลายเรื่องต้องขาดทุนยับ สมัยก่อนดูหนังต้องรอดูในโรงภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยุคนี้ดูที่ไหนก็ได้ผ่านระบบสตรีมมิง บางเรื่องเข้าฉายในโรงไม่นาน ก็เข้ามารอในแพลตฟอร์มแล้ว เรื่องนี้ฟังดูแล้วเป็นผลดีกับคนดูทั่วไป แต่สำหรับคนในวงการสร้างหนังอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
อ้างอิงจากสื่อของเกาหลีใต้ Koreatimes รายงานว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเกาหลีใต้กำลังเจอกับวิกฤต คนดูหนังในโรงภาพยนตร์ลดลงอย่างต่อเนื่องและยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้นับตั้งแต่ยุคโควิด -19 จนส่งผลกระทบต่อรายได้ของอุตสาหกรรม เพราะแม้จะนำไปฉายต่อหรือลงในระบบสตรีมมิง เช่น Netflix ก็ยังไม่สามารถสร้างรายได้ชดเชยต้นทุนมหาศาลในสร้างหนังฟอร์มยักษ์ได้เพียงพอ หรือพูดง่ายๆว่า ทำหนังมาแล้วขาดทุน
ข้อมูลจากสภาภาพยนตร์เกาหลี (KOFIC) ระบุว่าจำนวนผู้ชมภาพยนตร์ในเกาหลีใต้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยยอดสะสมในปีที่แล้ว ปี 2024 อยู่ที่ 123.13 ล้านคน ลดลง 1.6% จากจำนวน 125.14 ล้านคน เมื่อปี 2023
และคิดสัดส่วนแล้วมียอดคนดูเหลืออยู่เป็นเพียงประมาณครึ่งเดียว หรือ 54% ของปี 2019 ซึ่งในปีนั้นมียอดคนดูหนังสูงถึง 226.68 ล้านคน
โดยปีที่ผ่านมาจำนวนการชมภาพยนตร์เฉลี่ยต่อคนต่อปีของคนเกาหลีลดลงเหลือที่ 2.4 ครั้ง และกำไรเฉลี่ยของภาพยนตร์ที่มีต้นทุนการผลิตสุทธิอย่างน้อย 3 พันล้านวอน ก็ติดลบถึง –16.4% และปัญหาที่ตามมาก็คือผลกำไรจากภาพยนตร์ที่ต่ำลง ส่งผลให้บริษัทลงทุนและผู้จัดจำหน่ายลดขนาดการลงทุนลง จึงซ้ำเติมทำให้ตลาดหดตัวลงไปอีก
จำนวนภาพยนตร์เกาหลีที่ผลิตออกมาคาดว่าจะออกฉายในแต่ละปีลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นในปีนี้ 2025 มีทั้งหมด 10 ถึง 14 เรื่อง จากบริษัทจัดจำหน่ายและลงทุนรายใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ CJ ENM, Lotte Entertainment, NEW, Showbox และ Plus M Entertainment ขณะที่ปีที่แล้วและปีก่อนหน้า มีภาพยนตร์ออกฉายปีละ 35 ถึง 37 เรื่อง
KOFIC วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่จำนวนผู้ชมภาพยนตร์ลดลง เป็นเพราะว่าไม่มีภาพยนตร์ดังฉายในช่วงฤดูร้อนที่เป็นช่วงพีคของตลาด ขณะที่ภาพยนตร์จากต่างประเทศก็ได้รับความนิยมจากผู้ชมน้อยลงเช่นกัน โดยในปีนี้ยอดผู้เข้าชมภาพยนตร์เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 530,000 คน ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้วที่มีอยู่ 550,000 คน
ความเห็นจากเจ้าหน้าที่จากบริษัทการตลาดภาพยนตร์ท้องถิ่นกล่าวว่าความร้อนแรงของตลาดภาพยนตร์ในเกาหลีใต้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยระบุว่าก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แฟนหนังให้ความสนใจกิจกรรมการตลาดภาพยนตร์ของเราอย่างมาก ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จของภาพยนตร์ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังความสำเร็จเช่นนี้ในวงการภาพยนตร์ท้องถิ่น เนื่องจากผู้คนเข้าโรงภาพยนตร์น้อยลงเรื่อยๆ
"โรคระบาด" จุดเปลี่ยนคนติดดูหนังที่บ้าน จ่ายเงินเพื่อบัตรคอนเสิร์ตคุ้มค่ากว่า
จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ยุคของโควิด-19 คนอยู่บ้าน คุ้นชินกับการดูหนังที่บ้าน สตรีมมิงเติบโตอย่างร้อนแรง มีผู้ผลิตชั้นนำลงไปเล่นจำนวนมาก และหลายเรื่องที่ดังๆก็มาจากการลงทุนผลิตของสตรีมมิง เช่น สควิซเกม ที่โด่งดังไปทั่วโลก จนสร้างต่อถึง 3 ซีซั่น ก็เป็นของเกาหลีใต้
ความเห็นในเรื่องนี้จากนักวิจารณ์ด้านวัฒนธรรมในเกาหลีใต้ Kim Hern-sik คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะยังคงต้องดิ้นรนเพื่อหาจุดเปลี่ยนให้ได้ โดยนักวิจารณ์มองว่าภาพยนตร์ที่ออกฉายในโรงในปัจจุบันนั้นต่ำมีคุณภาพต่ำกว่าภาพยนตร์และซีรีส์ที่ผลิตโดยแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่างมาก เนื่องจากมีงบประมาณการผลิตที่ค่อนข้างต่ำกว่า เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่ลงทุนเงินเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งเทคนิคการกำกับก็มีคุณภาพต่ำกว่าด้วย
ผู้คนในเกาหลีใต้หันไปเลือกดูซีรีส์บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแทนที่จะไปดูที่โรงภาพยนตร์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ยุคของโรคระบาด ผู้คนพบว่าเหตุผลในการไปโรงภาพยนตร์ลดน้อยลง ในอดีตการไปดูหนังและรับประทานอาหารที่โรงภาพยนตร์ถือเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรม แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 ผู้คนตระหนักว่าไม่จำเป็นต้องไปโรงภาพยนตร์อีกต่อไป หลังการระบาดผู้คนดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์มากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่จะไปดูคอนเสิร์ตหรือละครเพลงมากขึ้น แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงก็ตาม
ดังนั้นเมื่อการฉายในโรงไม่คุ้มทุนสร้าง ดังนั้นวันนี้ภาพยนตร์ของเกาหลีใต้หลายเรื่องจึงหนีไปลงแพลตฟอร์สตรีมมิงอย่าง Netflix หลายเรื่องเข้าโรงไม่นาน ก็รีบเอามาลงแพลต์ฟอร์มแล้ว เพื่อลดการขาดทุน แต่ปรากฎว่าสิ่งที่ตามมา คือ คนรู้ทันเลือกที่รอหนังเข้าสตรีมมิง และไม่ไปดูในโรงเลย
เจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้คนหนึ่ง ให้ความเห็นเรื่องนี้บอกว่า ภาพยนตร์ทุนสร้างสูงกำลังประสบปัญหาในการประสบความสำเร็จในบ็อกซ์ออฟฟิศมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงิน ภาพยนตร์เหล่านี้จึงมักถูกเผยแพร่บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งทันทีหลังจากเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งนำไปสู่วงจรอันเลวร้ายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์
รายงานยังระบุถึงผลงานล่าสุดของซงจุงกิ ดาราดังระดับแนวหน้าจากเรื่อง “Bogota: City of the Lost” ซึ่งถ่ายทำส่วนใหญ่ในโคลอมเบีย ถือเป็นตัวอย่างล่าสุดของกระแสนี้
ภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นชื่อเรื่องงบประมาณการสร้างสูงถึง 12.5 พันล้านวอน (8.6 ล้านดอลลาร์) และต้องมียอดผู้ชมทะลุ 3 ล้านคนจึงจะคุ้มทุน แต่ปรากฎว่ามีผู้ชมในโรงเพียง 422,000 คนเท่านั้น
"ความหวัง" อุตสาหกรรมภาพยนตร์ คือ ผู้นำคนใหม่ "อี แจ-มยอง"
ที่ผ่านมาทางการเกาหลีใต้ มีบทบาทอย่างยิ่งในการส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ และไปไกลถึงขั้นได้รับรางวัลออสการ์มาแล้วด้วย จากหนังเรื่อง Parasite ดังนั้นเมื่อวันนี้เกิดวิกฤต ทุกฝ่ายจึงคาดหวังในผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้เข้ามาช่วยเหลือ
อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้คาดหวังว่าจะกลับมาสู่ยุคเฟืองฟูได้อีกครั้ง ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่อี แจ-มยอง หลังจากเจอกับกับความท้าทาย จากสตรีมมิ่ง และราคาตั๋วที่แพงขึ้นด้วย
เนื่องจากหลายฝ่ายในวงการว่า รัฐบาลอดีตประธานาธิบดียูน-ซอคยอล ให้การสนับสนุนเทศกาลภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์อิสระที่ช่วยสร้างความหลากหลายน้อยลง
ข้อมูลของสมาคมภาพยนตร์เกาหลีใต้ระบุว่าเมื่อปีที่แล้ว โรงภาพยนตร์ในประเทศมีรายได้ประมาณ 881.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 65.3% ของรายได้เฉลี่ยในช่วงปี 2017-2019 ที่เท่ากับ 1,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผู้สร้างภาพยนตร์อิสระรายหนึ่งที่ขอไม่เปิดเผยชื่อ ให้ความเห็นว่านอกจากปัจจัยจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง และค่าตั๋วที่แพงขึ้นแล้ว เขามองว่ารัฐบาลที่แล้วมีการตัดงบประมาณสนับสนุนวงการภาพยนตร์ด้วย
ประธานาธิบดีคนใหม่อี แจ-มยองได้กล่าวสุนทรพจน์ในฐานะประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา เขาเคยหาเสียงไว้ว่า เขาจะทำให้เกาหลีเป็นหนึ่งใน 5 ประเทศที่ทรงอิทธิพลทางวัฒนธรรม โดยให้คำมั่นว่าจะสนับสนุน ดนตรี K-POP ละครเกาหลีใต้ การ์ตูนออนไลน์ เกมส์ อาหารและความงาม พร้อมกับมีโครงการฝึกฝนและมีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับศิลปินให้เข้มแข็งขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังเสนอมาตรการหลายระดับ ทั้งการกำหนดให้ภาพยนตร์ ละคร เว็บตูนและเกมส์เป็นยุทธศาสตร์ชาติ ลดหย่อนภาษีเพื่อลดต้นทุนการผลิต
ด้วยเหตุนี้ ผู้คนในวงการภาพยนตร์ส่วนหนึ่งสนับสนุนเขาด้วยความหวังว่าประธานาธิบดีอีจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ รวมไปถึงผลักดันการส่งออกภาพยนตร์เกาหลี โดยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 สามวันก่อนการเลือกตั้ง ผู้ประกอบวิชาชีพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 315 คนเรียกร้องให้เพิ่มเงินลงทุนในโปรดักชั่นระดับกลาง และหาทางเพิ่มสัดส่วนผู้ชมภาพยนตร์อิสระเป็น 10%
ทั้งนี้ค่าตั๋วหนังของประเทศเกาหลีใต้เฉลี่ยประมาณ 1 หมื่นวอน หรือประมาณ 200 กว่าบาท ถ้าหากใช้โปรโมชั่นอาจจะถูกลงกว่านี้ ขณะที่รายเดือนของสตรีมมิง เช่น Netflix เริ่มต้นถูกสุดแบบมีโฆษณา อยู่ที่ประมาณ 7 พันวอนหรือ 160 กว่าบาทต่อเดือนเท่านั้น เห็นได้ชัดว่าราคาต่างกันค่อนข้างมาก ดังนั้นการแข่งขันจึงร้อนแรง และอุตสาหกรรมจึงต้องปรับตัว และไม่ใช่เพียงแค่เกาหลีใต้เท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
