รีเซต

นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาสร้าง “แก้ว” ที่ไม่มีวันแตก ยืดได้ บิดได้ และนำไฟฟ้าได้ !

นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาสร้าง “แก้ว” ที่ไม่มีวันแตก ยืดได้ บิดได้ และนำไฟฟ้าได้ !
TNN ช่อง16
2 กรกฎาคม 2567 ( 00:01 )
29
นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาสร้าง “แก้ว” ที่ไม่มีวันแตก ยืดได้ บิดได้ และนำไฟฟ้าได้ !

กลุ่มนักวิจัยด้านวิศวกรรมเคมีและชีวโมเลกุล จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาสเตต (North Carolina State University) ในสหรัฐอเมริกา พัฒนาสารคล้ายกระจกที่ตั้งชื่อให้ว่า เจลแก้ว หรือ กลาสซี่ เจล (Glassy Gel) โดยมีความโปร่งใสแทบไม่ต่างจากแก้วทั่วไป แต่มีความยืดหยุ่นสูง ไม่แตกหัก ไม่เปราะ บิดงอ และนำไฟฟ้าได้ด้วย


คุณสมบัติ “แก้ว” ที่ไม่มีวันแตก ยืดได้ บิดได้ และนำไฟฟ้าได้ !

Glassy Gel หรือเจลแก้วดังกล่าว สร้างขึ้นจากสารในกลุ่มพอลิเมอร์ (Polymer) แบบพิเศษที่มีคุณสมบัติโปร่งใสคล้ายแก้ว พร้อมกับการผสมของเหลวที่เรียกว่า ไอโอโนเจล (Ionogel) ที่เป็นสารสังเคราะห์ มีสมบัติเป็นของเหลวคล้ายน้ำที่นำไฟฟ้าในอัตราความเข้มข้นเฉพาะ และเมื่อผสมกันแล้ว จะทำให้ Glassy Gel มีสัดส่วนของของเหลวมากกว่าร้อยละ 54 ของส่วนประกอบทั้งหมด


โดยนักวิจัยได้นำไปขึ้นรูปด้วยการนำ Glassy Gel ที่ผสมกันแล้วฉีดเข้าไปในแม่แบบ ก่อนจะฉายแสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) หรือแสง UV เพื่อทำให้ Glassy Gel คงสภาพเป็นแผ่นได้ ก่อนที่จะแกะออกมาจากพิมพ์  ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือแผ่นใสคล้ายแก้ว แต่มีเนื้อสัมผัสแบบเดียวกับเจลที่เมื่อนำของปลายแหลมทิ่มเข้าไป จะไม่ได้แตกหักหรือทะลุ แต่จะยืดออกแทน 


Glassy Gel ยังสามารถนำไฟฟ้าได้จากคุณสมบัติของไอโอโนเจลที่ถูกผสมเข้าไป อีกทั้งยังสามารถดึงยืดได้ถึง 5 เท่า จากความยาวที่แท้จริงของตัวแก้วเจล รวมถึงดัดรูป บิดงอเป็นเกลียวได้ แต่เมื่อ Glassy Gel ได้รับความร้อนโดยการต้มในน้ำ ก็จะคืนรูปร่างที่แท้จริงกลับมา แต่ไม่มีการระเหยหรือเสียสภาพความเป็นแก้วแม้จะโดนความร้อนก็ตาม


ประโยชน์ของ “แก้ว” ที่ไม่มีวันแตก ยืดได้ บิดได้ และนำไฟฟ้าได้ !

จากคุณสมบัติและความสามารถของ Glassy Gel ทำให้นักวิจัยเชื่อว่าจะเกิดการนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่ยาก โดยยกตัวอย่างเป็นขวดน้ำ หน้าต่างบนเครื่องบินโดยสาร และความยืดหยุ่นนี้ยังสามารถนำไปใช้กับคอนแทคเลนส์ได้ด้วยเช่นกัน


ในขณะเดียวกัน ทีมนักวิจัยยังชูจุดเด่นของกระบวนการผลิต Glassy Gel ที่ง่ายและมีต้นทุนต่ำ เพราะกระบวนการขึ้นรูปสามารถใช้แม่พิมพ์แบบใดก็ได้ หรือแม้แต่ขึ้นรูปอย่างอิสระด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ด้วยเช่นกัน โดยงานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการเนเชอร์ (Nature) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว



ข้อมูลจาก SciTech Daily

ภาพจาก Meixiang Wang/NC State University


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง