สหรัฐฯ เปิดฟาร์มแนวตั้งขนาดใหญ่แห่งแรกของโลก ปลูกสตรอว์เบอร์รีเกือบ 2 ล้าน กก. ต่อปี
การเกษตรของโลกถือว่าก้าวหน้าไปอีกขั้น เมื่อบริษัทเทคโนโลยีการเกษตรสัญชาติสหรัฐอย่างเพลนตี้ (Plenty) ได้ทำฟาร์มแนวตั้ง ชื่อ ฟาร์มเพลนตี้ ริชมอนด์ (Plenty Richmond Farm) ในเมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นฟาร์มแนวตั้งในร่มขนาดใหญ่แห่งแรกของโลก ออกแบบมาเพื่อให้ปลูกผลไม้ตระกูลเบอร์รี เทคโนโลยีนี้ได้รับการสนับสนุนจากทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่มองว่าการเกษตรในลักษณะนี้ถือเป็นเป็นหนทางที่จะบรรเทาความต้องการอาหารทั่วโลก
ฟาร์มเพลนตี้ ริชมอนด์ประกอบด้วยห้องเพาะปลูก 12 ห้อง ปลูกสตรอว์เบอร์รีบนเสาแนวตั้งที่สูง 9 เมตร สภาพแวดล้อมภายในมีการควบคุมอุณหภูมิ แสง และความชื้น การผสมเกสรของพืชได้รับการออกแบบให้มีประสิทธิภาพมากกว่าผสมเกสรด้วยผึ้ง คาดว่าสามารถปลูกสตรอว์เบอร์รีได้มากกว่า 1,800,000 กิโลกรัมต่อปี ในขณะที่ใช้พื้นที่น้อยกว่า 3,700 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าน้อยกว่าพื้นที่การปลูกสตรอว์เบอร์รีแบบดั้งเดิมประมาณร้อยละ 97 ใช้น้ำน้อยลงร้อยละ 90
นอกจากนี้ ด้วยการควบคุมสภาพแวดล้อม ทำให้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงของโรคติดต่อของพืช ทำให้ได้ผลผลิตมีความสม่ำเสมอมากขึ้นในขณะที่ผลผลิตที่เน่าเสียมีปริมาณลดลง รวมถึงยังสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล ตลอดทั้งปีอีกด้วย
สตรอว์เบอร์รีที่ปลูกที่ฟาร์มเพลนตี้ ริชมอนด์นี้ จะถูกจัดจำหน่ายโดยบริษัทการตลาดผลเบอร์รี่สดสัญชาติสหรัฐฯ อย่างดริสคอลล์ (Driscoll’s) ตามร้านขายของชำภายในต้นปี 2025 นี้
อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชแนวตั้งถือว่าเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมานานพอสมควร แต่ส่วนใหญ่การทำฟาร์มแนวตั้งเชิงพาณิชย์ที่ผ่าน ๆ มา จะจำกัดอยู่แค่การปลูกผักกาดหอม แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีล่าสุดนี้ได้ขยายขอบเขตของพันธุ์พืชที่สามารถปลูกได้
ฟาร์มแนวตั้งขนาดใหญ่แห่งแรกนี้เป็นผลงานจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นเวลาหลายปีเกี่ยวกับโมเดลดังกล่าว ดำเนินการโดยทีมงานจากองค์กรชื่อดังต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ มหาวิทยาลัยแม็กควารี มหาวิทยาลัยวาเกนิงเกน มหาวิทยาลัยฟลอริดา มหาวิทยาลัยบาสก์คันทรี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์พืชโมเลกุลของ CAS และสถาบันสรีรวิทยาและนิเวศวิทยาพืชเซี่ยงไฮ้ โดยได้มีการดำเนินการทดลองวิจัยมากกว่า 200 ครั้งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
เกล็น ยังกิน (Glenn Youngkin) ผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย กล่าวว่า “ฟาร์มของเพลนตี้ จะกระตุ้นผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น และขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงและปกป้องสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เรารอคอยที่จะได้สนับสนุนนวัตกรรมของเราเพื่อช่วยปฏิวัติอุตสาหกรรม”
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Science ฉบับวันที่ 24 กันยายน 2024
ที่มารูปภาพ Plenty