อู๊ดอู๊ดแปลว่า? นักวิทยาศาสตร์คิดค้นระบบแปลภาษาหมู สร้างความเข้าใจให้ผู้เลี้ยงมากขึ้น
ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับแปลภาษาต่าง ๆ พัฒนาไปไกลมากแล้ว อย่างของมนุษย์เองก็มีทั้งเครื่องแปลภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง เพื่อให้คนต่างถิ่นต่างภาษากันเข้าใจกัน ดังนั้นจะเป็นอย่างไรถ้าวันหนึ่งจะมีเครื่องแปลภาษา "หมู" เกิดขึ้นมาบ้าง เชื่อว่าน่าจะช่วยให้เราเข้าใจเสียงของพวกมันได้มากขึ้น
ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) ประเทศเดนมาร์ก ได้พัฒนาเครื่องแปลภาษาหมูขึ้นมาโดยใช้ระบบอัลกอริทึมจดจำและแยกแยะเสียงที่หมูเปล่งออกมาในแต่ละครั้ง
ซึ่งพวกเขาบันทึกเสียงร้องตัวอย่างจากหมูไปกว่า 7,000 ตัวอย่าง เพื่อค้นหาว่าแต่ละเสียงหมายถึงอะไรบ้าง โดยจะแยกบันทึกเสียงหมูในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ตอนที่อยู่กับครอบครัว เสียงลูกหมูที่ดูดนมจากแม่ เสียงการต่อสู้ระหว่างหมูเด็ก และตอนที่พวกมันได้เล่นของเล่น
จากนั้นจึงได้ใช้อัลกอริทึมของคอมพิวเตอร์ถอดรหัสของเสียง เพื่อจับคู่เสียงเข้ากับอารมณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ประกอบกับพฤติกรรมของมัน และอัตราการเต้นของหัวใจ
ซึ่งผลปรากฏว่า นักวิทยาศาสตร์สามารถจับคู่เสียงบางเสียง เข้ากับอารมณ์ต่าง ๆ ของหมูได้ เช่น กำลังมีความสุข ตื่นเต้น กลัว หรือเครียด เช่น เสียงคำรามสั้น ๆ จะบ่งบอกถึงความสุข ในขณะที่การเปล่งเสียงหลาย ๆ ครั้งแสดงให้เห็นว่าพวกเขากลัวหรืออารมณ์เสีย เช่น เมื่ออยู่ในโรงฆ่าสัตว์
และนอกจากนี้ การฝึกอัลกอริทึมให้จดจำเสียงเหล่านี้ และจับคู่ไปยังอารมณ์ที่ถูกต้อง ยังมีความแม่นยำเกือบ 92% อีกด้วย ทั้งนี้เหตุผลที่พวกเขาคิดค้นเครื่องแปลภาษาสำหรับหมูขึ้นมา ก็เพราะว่ามันเป็นสัตว์ที่ฉลาดมาก มีอารมณ์ที่ซับซ้อน และฉลาดพอ ๆ กับสุนัขได้เลย
Dr. Elodie Briefer รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน กล่าวว่า เสียงร้องของหมูมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนมาก เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เชิงบวกและเชิงลบ และลำดับต่อไป ทีมวิจัยคาดว่าจะนำเทคโนโลยีไปพัฒนาต่อยอด ให้กลายเป็นแอปพลิเคชันสำหรับเกษตรกร หรือคนที่เลี้ยงหมูเป็นสัตว์เลี้ยง เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกของหมูมากขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก