ศปช. สั่งลดระบายน้ำหลังเขื่อนให้เหมาะสม หลังเข้าปลายฝนต้นหนาว
วันนี้ (11 ตุลาคม 2567) เวลา 12.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้า เปิดเผยว่า จากการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบของประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานได้ปรับลด การระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานว่า ในช่วง 12.00 น. วันนี้ (ศุกร์ที่ 11 ต.ค.2567 ) จะปรับลดการระบายน้ำลงอีก อยู่ที่ 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้ สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สิงห์บุรี และบางพื้นที่ ของ จ.อ่างทอง จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
แม้จะมีการปรับลดการระบายน้ำในวันนี้ แต่ในช่วงวันอาทิตย์ และจันทร์ที่ 13-24 ต.ค. 67 นี้ในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะจังหวัดท้ายเขื่อน ตั้งแต่ จังหวัดชัยนาทลงมา อาทิ อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพ และสมุทรปราการ ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังระดับน้ำที่อาจเข้าท่วมชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกัน ซึ่งที่ประชุม ศปช.ได้สั่งการให้ สทนช. กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ และ กทม. เฝ้าระวัง และเตือนภัยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อไป
ส่วนความคืบหน้าการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำปิง ในพื้นที่ภาคเหนือ หลังมวลน้ำเคลื่อนตัวจาก จ.เชียงใหม่ ไปยัง จ.ลำพูน จนทำให้ระดับน้ำท่วมสูง บางจุดมีน้ำขังจนทำให้ประชาชนและเกษตรกรเริ่มได้รับผลกระทบจากน้ำที่เริ่มเน่าเสียนั้น ที่ประชุม ศปช. ได้สั่งการให้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อม กรมชลประทาน ระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำเข้าพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งก่อนหน้านี้ บริเวณ บ้านสบปะ ต.ริมปิง มีเครื่องสูบน้ำติดตั้ง 3 เครื่อง และ บ้านป่าไผ่ ต.หนองช้างคืน มีเครื่องสูบน้ำติดตั้ง 2 เครื่อง โดยล่าสุดทางสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้นำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งเพิ่มเติมคาดว่าจะใช้เวลา 3 วัน ทั้ง 2 จุดนี้จะเข้าสู่ภาวะปกติ
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้ขอรับการสนับสนุนกำลังพลและเรือผลักดันน้ำจากกองทัพ จำนวน 20 ลำ โดย 10 ลำแรก นำไปติดตั้งไว้บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำปิง สะพานเฉลิมพระเกียรติ 2540 จุดเชื่อมต่อระหว่าง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ส่วนอีก 10 ลำ ติดตั้งบริเวณ สะพานศรีบุญยืน อ.เมือง จ.ลำพูนโดยกองทัพเรือติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 จุดได้เดินเครื่องเต็มศักยภาพเพื่อเร่งระบายที่ตกค้างในพื้นที่ ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน โดยคาดว่าภายในวันที่ 15 ต.ค. จะสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ จ.ลำพูนได้ทั้งหมด
นายจิรายุ กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งอุปสรรคสำคัญคือการกำจัดโคลนที่ตกค้างในพื้นที่ โดย ศปช.ส่วนหน้าได้แบ่งพื้นที่รับผิดชอบเป็น 2 โซนหลัก 6 โซนย่อย โดย กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบโซนเหมืองแดง เหมืองแดงใต้ และปิยะพร ด้านกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบ โซนหัวฝาย-สายลมจอย เกาะทราย ไม้ลุงขน
ที่ประชุมได้รับรายงานว่าขณะนี้ทุกอย่างเดินหน้าตามแผน ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะบริเวณตลาดสายลมจอย ซึ่งถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ด้วยร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้ระดมเคลียร์โคลนออก จนทำให้เช้าวันนี้ สามารถเคลียร์พื้นที่จนเดินเท้าเข้าออกได้อย่างสะดวกมากขึ้น ซึ่งแล้ว โดยหลังจากนี้จะทำให้การเข้าทำความสะอาดบ้านเรือน ประชาชนเดินหน้าได้รวดเร็วมากขึ้น
ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ รมช.มท. (ประธาน ศปช.ส่วนหน้า) ลงพื้นที่บ้านห้วยทรายขาว หมู่ 3 ต.แม่ยาว อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย เพื่อรับฟังรายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ต.แม่ยาว จากนั้นจะพบปะประชาชนเพื่อมอบทุนการศึกษา มอบเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และมอบเครื่องอุปโภคบริโภค บรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัย
ภาพจาก กรมชลประทาน