รีเซต

ครม.เคาะ '3 แผน' วาระแห่งชาติ ใช้เทคโนโลยีอวกาศประเมินฝุ่น

ครม.เคาะ '3 แผน' วาระแห่งชาติ ใช้เทคโนโลยีอวกาศประเมินฝุ่น
มติชน
24 พฤศจิกายน 2563 ( 09:29 )
131
ครม.เคาะ '3 แผน' วาระแห่งชาติ ใช้เทคโนโลยีอวกาศประเมินฝุ่น

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ว่า ครม.เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเรื่องการแก้ไขปัญหาด้านมลพิษเรื่องฝุ่นละออง และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยเน้น 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินการ จังหวัดพื้นที่เสี่ยง เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคเหนือ 17 จังหวัด มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง หรือแหล่งกำเนิด ลดและควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ได้แก่ ยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้างและผังมือง และภาคครัวเรือน เช่น การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิงที่เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ก่อนวันที่กฎหมายกำหนด และการส่งเสริมการทำการเกษตร ปลอดการเผา เป็นต้น และมาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศเสริม เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมาตรการในการแก้ไขเรื่อง PM 2.5 ที่จะเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด ว่า ได้เตรียมมาตรการไว้กว่า 12 มาตรการ เช่น กรมป่าไม้ ได้มีการกำจัดเชื้อเพลิง เอาเชื้อเพลิงออกจากป่า โดยประชาชนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ และแปลสภาพเชื้อเพลิงให้เป็นพลังงาน อาทิ นำซังข้าว ซังข้าวโพดมาเปลเป็นเชื้อเพลิงอัดก้อน จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีการโอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการดับไฟป่าไปอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้แล้วเสร็จให้ได้ นอกจากนี้ มีการจัดทำแอพพลิเคชั่น Fire Check (ไฟร์ เช็ก) โดยขณะนี้เป็นช่วงของการทดลองใช้ ระบบการทำงานจะเป็นการจองช่วงเวลาในการเผาในบริเวณต่างๆ

 

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พร้อมด้วยนายสตีเว่น จี โอลีฟ ผอ.องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ สำนักงานภาคพื้นเอเชีย นายอัสลัม เปอร์เวส รอง ผอ.การบริหารศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือในการพัฒนาระบบการติดตาม ประเมิน และพยากรณ์คุณภาพอากาศโดยใช้เทคโนโลยีอวกาศ คพ.ได้ร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในการจัดทำระบบการติดตาม ประเมิน และพยากรณ์คุณภาพอากาศโดยใช้เทคโนโลยีอวกาศ หรือ Mekong Air Quality Explorer (http://aqatmekong-servir.adpc.net/en/mapviewer/) เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหามลพิษอากาศ ช่วยรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศของไทย

 

“ประมวลผลจากข้อมูลดาวเทียมและระบบแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของนาซ่าราย 3 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรายงานความเข้มข้นของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เชิงพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ พร้อมทั้งมีการพยากรณ์ล่วงหน้า 3 วัน ร่วมกับการดำเนินงานของจีสด้า หน่วยงานหลักของไทยที่พัฒนาระบบข้อมูลดาวเทียม เพื่อการติดตามแหล่งกำเนิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จุดความร้อน พื้นที่เผาไหม้ การกระจายตัวและทิศทางของฝุ่นละออง มีความแม่นยำถึงร้อยละ 70 รวมถึงพฤติกรรมการแพร่กระจายของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เชิงพื้นที่ ทั้งในประเทศและรอบประเทศที่ความถี่ทุกชั่วโมง นอกจากนี้ ระบบการติดตาม ประเมิน และพยากรณ์คุณภาพอากาศ ยังเป็นเครื่องมือสนับสนุนข้อมูลให้กับแอพพลิเคชั่น Burn Check เพื่อลงทะเบียนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตรกรรม” นายอรรถพลกล่าว

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง