ผู้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเร่งเครื่อง สร้างนวัตกรรมอวกาศแปลกใหม่ | TNN Tech Reports
เทคโนโลยีอวกาศ ถือเป็นหนึ่งวงการที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการที่หลายประเทศมีความพยายามที่จะส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวดวงอื่น ๆ เช่น ความสำเร็จของนาซ่าในการทดสอบเครื่องยนต์จรวดที่จะใช้ส่งตัวอย่างหินจากดาวอังคารกลับมายังโลกเพื่อศึกษา หรืออินเดีย ที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ และยังได้ส่งยานอวกาศเพื่อศึกษาดวงอาทิตย์ด้วย และนอกเหนือไปจากนั้น ก็ยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในรูปแบบอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
Space Spa แนวคิดห้องน้ำสุดหรูบนแคปซูลท่องอวกาศ
สเปซ เพอร์สเปคทีฟ (Space Perspective) บริษัทด้านการท่องเที่ยวอวกาศจากประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างเสียงฮือฮา ด้วยการเผยภาพคอนเซปต์ สเปซ สปา (Space Spa) ห้องน้ำบนตัวแคปซูลท่องอวกาศ ที่ออกแบบเฉพาะตัวราวกับยกสปาไปไว้นอกโลก หลังจากที่ได้เผยโฉมแคปซูลท่องเที่ยวอวกาศสุดหรูไปเมื่อปีที่แล้ว
สเปซ สปา จะตั้งอยู่ภายในห้องโดยสารทรงแคปซูล สเปซชิป เนปจูน (Spaceship Neptune) โดยจะเน้นการออกแบบให้ดูกว้างขวาง ใช้โทนสีเบาสบายตา มาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
โดยผู้ก่อตั้งบริษัทตั้งใจให้สเปซ สปานี้เป็นเหมือนกับ “โอเอซิส” หรือจุดพักผ่อนหย่อนใจบนอวกาศ ให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับแคปซูลลำนี้
สำหรับแคปซูลท่องอวกาศสเปซชิป เนปจูน จะใช้เทคโนโลยีการลอยตัวสูงขึ้นจากพื้นโลกด้วยบอลลูนอวกาศ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยก๊าซไฮโดรเจนหมุนเวียน ปราศจากการใช้จรวดและระบบขับเคลื่อนอื่น ๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยตัวแคปซูลจะลอยตัวขึ้นสูงด้วยบอลลูนอวกาศอย่างช้า ๆ ด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไปที่ระดับความสูงประมาณ 32 กิโลเมตร ซึ่งถึงแม้จะยังไม่ถูกจัดเป็นบริเวณเหนือเส้นแบ่งพรมแดนอวกาศที่ระดับความสูง 100 กิโลเมตร แต่ด้วยระดับความสูงดังกล่าวเพียงพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมองเห็นความสวยงามของโลกและอวกาศได้
อังกฤษคิดค้นเครื่องตรวจจับขยะอวกาศ
ปัญหาขยะ ไม่ได้มีแค่ในโลกเท่านั้นแต่ในอวกาศก็มีเช่นกัน และขยะอวกาศนั้นก็อาจจะสร้างความเสียหายที่มีมูลค่ามหาศาล
ด้วยเหตุนี้ สตาร์ตอัปในสหราชอาณาจักร โอดิน สเปซ (ODIN Space) จึงได้พัฒนาเครื่องตรวจจับแรงกระแทกในวงโคจร ที่สามารถช่วยติดตามแม้กระทั่งเศษขยะอวกาศที่มีชิ้นส่วนขนาดเล็กมาก ติดตามเส้นทางของขยะ และสร้างเครือข่ายข้อมูลเส้นทางขยะอวกาศในวงโคจร เพื่อช่วยให้บรรดาบริษัทต่าง ๆ สามารถวางแผนการปล่อยดาวเทียมหรือยานอวกาศ ป้องกันการชนกับขยะอวกาศ
เทคโนโลยีตรวจจับขยะนี้ เป็นระบบตรวจจับน้ำหนักเบา มีลักษณะเป็นแผงเซนเซอร์สีทองติดตั้งไปกับยานอวกาศหรือดาวเทียมต่าง ๆ ได้ สามารถตรวจจับและระบุชิ้นส่วนขยะที่มีขนาดเล็กถึง 0.1 มิลลิเมตร แม้ว่าจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วหลายพันเมตรต่อวินาทีก็ตาม
โดยทันทีที่มีเศษซากขยะอวกาศพุ่งเข้าชนแผงสีทองนี้ ตัวเซนเซอร์ก็จะตรวจจับแรงสั่นสะเทือน และประมวลผลออกมาเป็นข้อมูลขนาดของวัตถุ ความเร็วและทิศทางที่เคลื่อนไป
บริษัทได้ปล่อยแผงเซ็นเซอร์ตัวแรกที่มีขนาด 20 x 30 เซนติเมตร ไปกับยานส่งดาวเทียมขนาดเล็กของอิตาลี เพื่อรวบรวมข้อมูลขยะเศษซากเมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา และมีแผนที่จะขยายขนาดแผงเซนเซอร์ให้ใหญ่ขึ้นในอนาคต
จรวดพลังงานขี้วัวจากญี่ปุ่น
อนาคตของการปล่อยจรวดสู่อวกาศอาจจะมีความรักษ์โลกมากยิ่งขึ้น เมื่อบริษัทอวกาศน้องใหม่จากประเทศญี่ปุ่น อินเตอร์สเตลลาร์เทคโนโลยี (Interstellar Technologies) ได้ผุด ไอเดียพัฒนาจรวดที่มีชื่อว่า เซโร่ (Zero) ซึ่งสื่อถึงการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ไปยังอวกาศ โดยเป็นจรวดใช้เชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่ทำมาจากมูลของวัวทั้งหมด
จรวดเซโร่เป็นจรวดขับเคลื่อน 2 ระยะ ที่เมื่อปล่อยไปแล้ว จะมีการจุดเครื่องยนต์อีกครั้งขณะอยู่กลางอากาศ คล้ายกันกับ จรวดฟอลคอนไนน์ (Falcon 9) ของบริษัทสเปซเอกซ์ (SapceX)
ตัวจรวดได้รับการปรับแต่งให้มีน้ำหนักเบา ด้วยการทำโครงสร้างจากอะลูมิเนียมและพลาสติกที่เสริมโครงสร้างด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon fiber) มีน้ำหนักรวม 33 ตัน
จุดเด่นสำคัญของจรวดเซ่โร่ ก็คือการใช้เชื้อเพลิงประเภทมีเทนเหลว (Liquid Methene) ที่ได้จากการหมักมูลวัว หรือเรียกว่าไบโอมีเทน (Biomethene) เพื่อใช้ขับดัน
รวมถึง ยังออกแบบให้จรวดรองรับสัมภาระหรือเพย์โหลด (Payload) ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 150 กิโลกรัม ซึ่งการออกแบบทั้งหมดมีเป้าหมายให้การยิงแต่ละครั้งมีต้นทุนต่ำนั่นเอง
โดยตามแผนงานแล้ว จรวดเซโร่จะขึ้นบินด้วยเชื้อเพลิงจากมูลวัวเป็นครั้งแรก ภายในปี 2025