GISTDA อัปเดตภารกิจ THEOS-2 ตลอด 1 ปีในห้วงอวกาศ

หลังจากประสบความสำเร็จในการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 (ธีออส-2) ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 2023 ด้วยจรวดนำส่ง VEGA จากท่าอวกาศยาน Kourou ที่เมืองเฟรนช์เกียนา และทำการทดสอบระบบต่าง ๆ เป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือนก่อนการส่งมอบให้ GISTDA อย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2024 ถึงขณะนี้ดาวเทียม THEOS-2 (ธีออส-2) ได้ปฏิบัติภารกิจสำรวจโลกจากวงโคจรมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีแล้ว
เพจเฟซบุ๊ก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลภารกิจดาวเทียม THEOS-2 ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในประจำการบนวงโคจรรอบโลก รวมถึงรายละเอียดเบื้องหลังว่าทำไมดาวเทียมดวงนี้ ถึงมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศไทยได้ นอกจากข้อมูลและภาพถ่ายจากอวกาศเพียงอย่างเดียว
ดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลกความละเอียดสูงมาก มีมวลรวมหนักกว่า 425 กิโลกรัม สามารถถ่ายภาพวัตถุที่มีขนาดตั้งแต่ 50 เซนติเมตรขึ้นไป เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานภาครัฐได้นำไปใช้งานได้อย่างเหมาะสม อาทิ การวางแผนนโยบายเชิงพื้นที่ การสำรวจและติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ การทำแผนที่รายละเอียดสูง การติดตามผลผลิตการเกษตร การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ การใช้งานด้านความมั่นคง และการรับมือภัยพิบัติต่าง ๆ เป็นต้น โดยภาพถ่ายความละเอียดสูงชุดแรก ที่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2024 (ภาพชุดของ "กรุงเทพมหานคร" เมืองหลวงของประเทศไทย) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของดาวเทียม THEOS-2 แล้ว
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ยังได้ควบคุมและสั่งการให้ดาวเทียม THEOS-2 บันทึกภาพบริเวณพื้นที่ได้รับผลกระทบทางภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ เหตุอุทกภัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง พระนครศรีอยุธยา และเชียงรายที่เกิดขึ้นในปี 2024 นอกจากนี้ยังได้สำรวจพื้นที่เผาไหม้ที่เกิดจากไฟป่าในพื้นที่บริเวณเขาเสียดอ้า ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนให้กับหน่วยงานที่ต้องบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ และในอนาคตจะมีการนำข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 ไปใช้ในแอปพลิเคชัน Dragonfly ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร รวมถึงการติดตามการใช้ประโยชน์พื้นที่ในเขตที่ดินที่ได้รับอนุญาตตามมาตรการ คทช. ด้วย
เนื่องจากดาวเทียม THEOS-2 โคจรอยู่ในวงโคจรแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ หรือ Sun Synchronous Orbit ที่ความสูง 621 กิโลเมตรจากพื้นโลก ยังทำให้สามารถบันทึกภาพถ่ายพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลกได้อย่างครอบคลุม นอกจากนี้ดาวเทียมยังสามารถเอียงตัวในการถ่ายภาพได้ถึง 45 องศา ทำให้สามารถกลับมาถ่ายซ้ำพื้นที่เดิมได้ในเวลาไม่เกิน 5 วัน เพื่อใช้ประโยชน์ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นข้อมูลสำหรับวางแผนความมั่นคงได้เช่นกัน ดาวเทียม THEOS-2 สามารถส่งข้อมูลภาพถ่ายกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้เป็นพื้นที่มากกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน โดยมีช่วงเวลาโคจรผ่านเหนือสถานีภาคพื้นดิน ณ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีทุกวัน วันละ 3-4 ครั้ง
ทั้งนี้ ดาวเทียม THEOS-2 มีอายุใช้งานขั้นต่ำตามการออกแบบไว้ที่ 10 ปี ซึ่งคาดว่าจะใช้งานได้ยาวนานกว่านั้น เช่นเดียวกับดาวเทียมไทยโชต หรือ THEOS-1 ที่มีอายุการใช้ขั้นต่ำงานตามการออกแบบที่ 5 ปี และยังคงปฎิบัติภารกิจในอวกาศเป็นเวลานานกว่า 16 ปี จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้งดาวเทียม THEOS-1 และ THEOS-2 ได้รับการออกแบบและพัฒนาจากบริษัท AIRBUS Defence and Space ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนอกจากดาวเทียมสำรวจโลกความละเอียดสูงแล้ว โครงการ THEOS-2 ยังมีการพัฒนาดาวเทียม THEOS-2A ขนาด 100 กิโลกรัม ที่มีวิศวกรของไทยกว่า 20 คน ได้ร่วมออกแบบและสร้างกับบริษัท Surrey Satellite Technology Ltd. ของสหราชอาณาจักร เป็นองค์ความรู้ขั้นสูงที่ได้ถูกนำกลับมาถ่ายทอดส่งต่อให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมอวกาศไทย เพื่อนำมาพัฒนาดาวเทียมถ่ายภาพในรุ่นต่อไป ตลอดจนผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการด้านอวกาศในประเทศเพิ่มเติม เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่างครบวงจร
ผลงานของดาวเทียม THEOS-2 ไม่ได้มีเพียงแค่ภารกิจการสำรวจโลกด้วยความละเอียดสูง เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนนโยบายของประเทศ หรือรับมือสถานการณ์ภัยธรรมชาติของท้องที่ต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังมีภารกิจสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศไทยให้มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีอวกาศ ผ่านการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศให้มีความเชี่ยวชาญ ด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์ในการสร้างดาวเทียมอย่างครบวงจร และส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ด้วยโอกาสในการทดลองทำดาวเทียมจริง พร้อมกับการต่อยอดสู่สายงานอาชีพในอนาคต ทั้งนี้ สามารถติดต่อข้อรับบริการข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 ได้ที่ https://awagad.gistda.or.th/ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการบริการ สำนักสร้างเสริมพันธมิตร เบอร์โทร 0 2141 4564 ต่อ 66, 69 หรืออีเมล usd@gistda.or.th