รีเซต

ซีไอเอ็มบีไทย หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 3.1% ชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปัจจัยเสี่ยงรุม คาดเงินเฟ้อพุ่งเฉียด 5%

ซีไอเอ็มบีไทย หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 3.1% ชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปัจจัยเสี่ยงรุม คาดเงินเฟ้อพุ่งเฉียด 5%
ข่าวสด
7 เมษายน 2565 ( 17:28 )
33
ซีไอเอ็มบีไทย หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 3.1% ชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปัจจัยเสี่ยงรุม คาดเงินเฟ้อพุ่งเฉียด 5%

ข่าววันนี้ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ลงจาก 3.8% เหลือ 3.1% หลังจากที่ไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ เพียง 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2564 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเผชิญความผันผวนจากความไม่แน่นอน ทั้งจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ตามมาด้วยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่นำไปสู่ปัญหาราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สร้างการเร่งขึ้นของเงินเฟ้อในไทย และทั่วโลก

 

สำหรับในช่วงไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทย มองว่ายังถูกรุมเร้าด้วยปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่อาจเฉียดระดับ 5% จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 4.75% ที่จะส่งผลต่อการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน ที่จะชะลอลง ความเชื่อมั่นการจับจ่ายของผู้บริโภค ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐแผ่ว แม้มีมาตรการพยุงกำลังซื้อ แต่อาจมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จึงทำให้ไม่สามารถครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงได้ทั้งหมด และอาจส่งผลให้กำลังซื้อของคนรายได้น้อยอ่อนแอลง

 

โดยมาตรการพยุงค่าครองชีพที่ออกมา แม้มีส่วนช่วยให้คนสามารถใช้น้ำมันดีเซลในราคาถูก ลดต้นทุนการขนส่ง แต่ก็อาจบิดเบือนกลไกตลาด และอาจทำให้ไทยขาดประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในระยะยาว ขณะเดียวกันโอมิครอนยังระบาดอยู่

 

แต่อย่างไรก็ดี ไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรก โดยคาดว่าจีดีพี ไทยในช่วงไตรมาสสองจะขยายตัว 2.3% เพราะเชื่อว่าการท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้น เมื่อความเชื่อมั่นฟื้น และเชื่อว่าคนอยู่ร่วมกับโควิดได้ การท่องเที่ยวน่าจะกระเตื้องขึ้น คาดหวังจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสองมากกว่าห้าแสนราย เนื่องจากไม่ได้เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวในฝั่งตะวันตก จีนยังไม่เปิดประเทศ และปัญหาค่าเงินรัสเซียอ่อนค่าน่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียลดลง

 

ส่วนการส่งออกยังขยายตัวในช่วงไตรมาส 2 แม้อาจชะลอไปบ้างจากไตรมาสแรก แต่ด้วยการส่งออกสินค้าเกษตร ปิโตรเคมี และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่ราคาขยับขึ้นตามราคาน้ำมันน่าจะพยุงการส่งออกได้

 

นอกจากนี้ รายได้ภาคเกษตรดีขึ้น จากปริมาณผลผลิตที่ออกมามากขึ้นตามระดับน้ำในเขื่อนที่มากกว่าปีก่อน ตลอดจนราคาสินค้าเกษตรที่โดยมากมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน ส่งผลให้รายได้จากการปลูกข้าว ยางพารา ปาล์ม อ้อย และมันสำปะหลังดีขึ้น แต่จากรายได้ภาคเกษตรตกต่ำเป็นเวลานาน หนี้ครัวเรือนสูง อาจทำให้เงินไหลเวียนในระบบมีไม่มากนัก และค่าครองชีพยังปรับขึ้นสูงอีกด้วย

 

“เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 เต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่คาดว่าในไตรมาส 3 และ 4 จะเร่งตัวขึ้นให้ขยายตัวได้ 4% ทำให้ทั้งปีจีพีดีอยู่ที่ 3.1% เพราะการส่งออกจะยังขยายตัวได้ในปีนี้ที่ 8% การท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้น มองทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยที่ 3 ล้านคน โดย 2 ไตรมาสแรกอยู่ที่ไตรมาสละ 5 แสนคน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ยังเป็นตัวเลขที่ปรับลงจากเดิมคาดไว้ 5 ล้านคน เพราะจีนยังไม่กลับมา ขณะที่ยุโรป และรัสเซียจะหายไปมาก ตลาดสำคัญ คือ เอเชีย อาเซียน และตะวันออกกลาง”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง