รีเซต

“โลกร้อนหยุดไม่อยู่” ข้อมูลชี้โลกเดือดทุบสถิติ ต่อเนื่อง 11 เดือน ปีหน้าร้อนยิ่งกว่า

“โลกร้อนหยุดไม่อยู่” ข้อมูลชี้โลกเดือดทุบสถิติ ต่อเนื่อง 11 เดือน ปีหน้าร้อนยิ่งกว่า
TNN ช่อง16
10 พฤษภาคม 2567 ( 09:08 )
60
“โลกร้อนหยุดไม่อยู่” ข้อมูลชี้โลกเดือดทุบสถิติ ต่อเนื่อง 11 เดือน ปีหน้าร้อนยิ่งกว่า

โลกร้อนขึ้นทุกปี อากาศร้อนจะระอุหนักยิ่งขึ้นไปอีก แล้วมนุษยชาติจะทำอย่างไร เมื่อ “โลกเดือด” มากขึ้น แบบไม่มีลงลดเลย 


—โลกร้อนทุบสถิติ ติดต่อนาน 11 เดือน—


โครงการบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป เผยผล การศึกษาใหม่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ระบุว่า เดือนเมษายน ปี 2024 ที่ผ่านมา อุณหภูมิค่าเฉลี่ยโลกสูงขึ้นทุบทำลายสถิติเดิมเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน 


ผลการศึกษานี้ เป็นหนึ่งในการบันทึกสถิติอุณหภูมิโลกที่ยาวนานหลายสิบปี และแต่ละปีอุณหภูมิก็มีแต่จะร้อนขึ้น จากวิกฤตเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


รายงานดังกล่าว เผยว่า นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ทุกเดือนอุณหภูมิจะทุบสถิติของเดือนเดียวกันในอดีต 


อย่างเดือนเมษายนที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 1.58 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับสถิติเดือนเมษายน ในช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม ปี 1850-1900 


นอกจากนี้ อุณหภูมิค่าเฉลี่ยของโลกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สูงขึ้น 1.6 องศาเซลเซียส เกินกว่าเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสที่กำหนดไว้ว่า ไม่ควรเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม


“เดือนเมษายนปีนี้ เป็นเดือนเมษายนที่ร้อนสุดที่เป็นประวัติการณ์ทั่วโลก ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากอุณหภูมิอากาศพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลก นี่คือ เดือนที่ 11 ที่อุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ฉะนั้น นี่จึงเป็นหนึ่งในสถิติอุณหภูมิโลกที่ยาวที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมาในช่วงหลายสิบปีนี้” จูเลียน นิโคลัส นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศแห่งโคเปอร์นิคัส กล่าว


หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิปีนี้สูงสุดยาวนานต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจาก ‘เอลนีโญ’ ปรากฎการณ์ที่ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้น 


ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติร้ายแรงและฉับพลันทั่วโลก บางพื้นที่อาจแล้งจัด จนน้ำแห้งเหือด ขณะที่ บางพื้นที่ก็ต้องเผชิญน้ำท่วม ฝนตกหนัก ผู้คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย  


โดยแถบเอเชีย ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงเวียดนาม รวมถึงไทย ประชาชนและสิ่งมีชีวิตต้องทนทุกข์ทรมานจากคลื่นความร้อนที่ปกคลุมหลายสัปดาห์ โรงเรียนถูกสั่งปิด ประชาชนได้รับผลกระทบทางสุขภาพ กระทบผลผลิตทางการเกษตร หนักสุดหลายคนต้องเสียชีวิตจากโรคลมแดด  


ขณะที่ บราซิลต้องประสบภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรงในพื้นที่ทางตอนใต้ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยหลายคน สูญหายอีกร้อยคน 


นอกจากนี้ หลายพื้นที่ในอเมริกาเหนือ เอเชียกลาง และอ่าวเปอร์เซีย ที่ต้องเผชิญน้ำท่วม หลังเกิดฝนตกหนัก


ส่วนออสเตรเลียเผชิญกับฝนตกหนักในทางตะวันออก และพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศต้องเผชิญกับความแห้งแล้งมากกว่าปกติ เช่นเดียวกับทางตอนเหนือของเม็กซิโก และบริเวณรอบ ๆ ทะเลแคสเปียน


สภาพอากาศสุดขั้วที่เราเห็นอยู่นี้ มาทั้งในรูปแบบของน้ำท่วม และภัยแล้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกในเดือนเมษายนปีนี้ และปัจจัยก็หนีไม่พ้น วิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง


ท้องทะเลเดือดไม่แพ้บนดิน


นอกจากพื้นผิวอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นทำลายสถิติต่อเนื่อง แต่ใต้ท้องทะเล อุณหภูมิค่าเฉลี่ยพื้นผิวทะเลโลกในเดือนเมษายน ก็ยังทำลายสถิติเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน 


อุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้น คุกคามสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ส่งผลให้ความชื้นในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลเสียต่อศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก 


บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง โลกจะเห็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ ‘ลานีญา’ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ตรงข้ามกับ เอลนีโญ กล่าวคือ อุณหภูมิในน้ำทะเลจะต่ำลง 


แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ตั้งข้อสังเกตว่า แม้เอลนีโญจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่อุณหภูมิโลกอาจยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นได้


“นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งที่น่าสงสัยที่สุดคือ แม้ว่าเอลนีโญจะสิ้นสุด แต่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลทั่วโลกก็ยังคงสูงอยู่ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากบันทึกทั้งหมดนี้ เราได้เห็นการทำลายสถิติในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์หลายคนตั้งคำถามว่าระบบภูมิอากาศโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่” นิโคลัส กล่าว


---เป้าหมาย 1.5 องศาฯ ทำได้จริง หรือ สายไปแล้ว ?—


สหประชาชาติ หรือ UN เคยออกมาเตือนเมื่อเดือนมีนาคมว่า มีความเป็นได้สูงที่ปี 2024 จะมีอุณหภูมิสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 


หลายประเทศเห็นพ้องกับเป้าหมายพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2015 


นี่เป็นระดับที่นักวิทยาศาสตร์หลายคน มองว่า ต้องหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากภาวะโลกร้อน อย่างเช่น คลื่นความร้อนรุนแรง น้ำท่วม และการสูญเสียระบบนิเวศอย่างถาวร 


สภาพอากาศที่แปรปรวน และอุณหภูมิที่เดือดขึ้น เหมือนโลกกำลังถูกต้มเช่นนี้ สร้างความท้าทายให้กับรัฐบาลทั่วโลกว่า จะบรรลุเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้หรือไม่ 


นักวิทยาศาสตร์บางส่วนมองว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นเช่น มันอาจฟันธงได้แล้วว่า บางทีเราอาจทำไม่สำเร็จ


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 


ข้อมูลอ้างอิง: 

World sweltered as April smashed global heat records - AFP 

Hottest April on record, as climate change drives 11-month streak - Reuters

https://climate.copernicus.eu/copernicus-global-temperature-record-streak-continues-april-2024-was-hottest-record

ข่าวที่เกี่ยวข้อง