รีเซต

ประชากรเกาหลีใต้อาจลด 85% ในอีก 100 ปีข้างหน้า

ประชากรเกาหลีใต้อาจลด 85% ในอีก 100 ปีข้างหน้า
TNN ช่อง16
2 กรกฎาคม 2568 ( 17:07 )
10

ประชากรของเกาหลีใต้มีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง 15% ของระดับปัจจุบันภายในปี 2125 หากแนวโน้มการเกิดต่ำยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ตามรายงานล่าสุดของสถาบัน Korean Peninsula Population Institute for Future ที่กรุงโซล

ในกรณีเลวร้ายที่สุด คาดว่าประชากรเกาหลีใต้จะลดลงจาก 51.68 ล้านคนในปัจจุบัน เหลือเพียง 7.53 ล้านคนภายในปี 2125 ซึ่งน้อยกว่าจำนวนประชากรในกรุงโซลปัจจุบันที่มีมากกว่า 9.3 ล้านคน แม้ในกรณีดีที่สุด ประชากรยังคงลดลงเหลือ 15.73 ล้านคน ส่วนประมาณการระดับกลางอยู่ที่ 11.15 ล้านคน

หากในอดีตโครงสร้างประชากรมีลักษณะเป็น “ปลากระเบน” ที่มีฐานกว้างจากคนรุ่นใหม่ จำนวนประชากรจะเปลี่ยนเป็นรูปร่าง “งูเห่า” ภายในปี 2125 ซึ่งหมายถึงจำนวนคนในทุกช่วงวัยลดลง แต่ผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนมากที่สุด แรงงาน 100 คน อาจต้องดูแลผู้สูงวัยถึง 140 คน ภายในปี 2100 หากไม่สามารถหยุดยั้งเทรนด์นี้ได้ แรงงาน 100 คนจะต้องรองรับผู้สูงอายุถึง 140 คน จากปัจจุบันที่ดูแลผู้สูงวัยเพียงราว 30 คนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นโครงสร้างแบบ “พีระมิดกลับหัว” ที่ไม่ยั่งยืน

นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่มอง “เงินและที่อยู่อาศัย” มากกว่า “ความรัก” การวิเคราะห์ข้อความกว่า 60,000 โพสต์จากแอปพลิเคชัน Blind ซึ่งมีผู้ใช้งานวัยทำงาน พบว่าคนในช่วงอายุ 20-40 ปี ให้ความสำคัญกับ “เงิน” และ “บ้าน” มากกว่า “ความรัก” เมื่อตัดสินใจแต่งงาน ส่วนเรื่องลูก ส่วนใหญ่แสดงความกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ

ด้านสถาบัน Korean Peninsula Population Institute for Future เสนอข้อแก้ไขเชิงนโยบายเร่งด่วน โดยขยายการสนับสนุนทางการเงินในการมีลูกและเลี้ยงดูบุตร ปรับวัฒนธรรมการทำงานเพื่อให้มี Work-Life Balance ขยายอายุเกษียณและสนับสนุนการทำงานต่อเนื่อง ปฏิรูประบบแรงงานต่างชาติ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยไม่พึ่งพาการเติบโตของจำนวนประชากร

แม้อัตราการเจริญพันธุ์ของเกาหลีใต้ในปี 2024 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.75 แต่ยังห่างไกลจากระดับทดแทนที่ 2.1 ซึ่งจำเป็นต่อการรักษาขนาดประชากรให้คงที่

รายงานชี้ชัดว่า เกาหลีใต้กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตประชากรครั้งใหญ่ ทั้งจากการเกิดน้อยและการชราภาพอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากไม่ดำเนินนโยบายเชิงรุกโดยเร็ว อาจกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและโครงสร้างสังคมในระยะยาว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง