รีเซต

"อสม." ป้อมปราการด่านหน้าสู้โควิด ฮีโร่ของชุมชน

"อสม." ป้อมปราการด่านหน้าสู้โควิด ฮีโร่ของชุมชน
TNN ช่อง16
4 กันยายน 2564 ( 12:26 )
151

หลังจากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ไวรัสโควิด-19 ซึ่งจุดเริ่มต้นการระบาด ณ เมืองอู่อั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ในประเทศไทยเองตั้งแต่มีการระบาดก็ได้ประกาศมาตรการควบคุมโรค โดยสั่งให้มีการปิดสถานประกอบการ ร้านค้า ซึ่งทุกภาคส่วนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ หากพูดถึงกลุ่มบุคคลที่เปรียบเสมือนเป็นด่านหน้า หรือ ฟันเฟืองสำคัญในการช่วยสกัดโควิด-19 นั่นก็คือ กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการลงพื้นที่ค้นหากลุ่มเสี่ยง ควบคุม ยับยั้ง คัดกรอง แยกกัก ผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ติดเชื้อ ซึ่ง อสม. ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางสื่อสาร พูดคุย ประชาสัมพันธ์ด้านสุขภาพระหว่างรัฐสู่ประชาชนในระดับหมู่บ้าน และมีความใกล้ชิดกับประชาชน ทำให้ได้รับความเชื่อถือและปฏิบัติตามคำแนะนำจากคนที่อาศัยในหมู่บ้านเดียวกัน


เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า อสม.ช่วยทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขในการเป็นด่านหน้าช่วยเฝ้าระวัง คัดกรองโรคโควิด 19 ทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ส่งผลให้ อสม.เป็นชื่ออินเตอร์ระดับโลก สร้างเกียรติยศ ชื่อเสียงให้ประเทศไทยว่า มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุด ซึ่งประเทศใดที่ได้รับการยกย่องเชื่อถือว่ามีระบบสาธารณสุขที่ดี ทำให้ได้รับความสนใจจากต่างชาติในการมาท่องเที่ยว ลงทุน และมาพำนักถิ่นฐาน 

ทั้งนี้ ขอให้ อสม.รักษาเกียรติยศ ชื่อเสียงต้นทุนของความน่าเชื่อถือนี้ไว้ ไม่ใช่แค่เรื่องของความภาคภูมิใจ แต่เราต้องการให้ อสม.เป็นที่เชื่อถือในประชาชน ในการเป็นหมอประจำครอบครัว เมื่อพูดเรื่องสุขภาพแล้วประชาชนทำตาม เช่น การสร้างกระแสให้คนสวมหน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่าง เพื่อต่อสู้กับโรคโควิด 19 เนื่องจากเรายังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่เราจำเป็นที่จะต้องเปิดประเทศมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้


TNN Online ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ นางบุญศรี จันทนา ตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดูแลประชาชน ม.4 หมู่บ้านวังไผ่ ต.ชัยนาท อ.เมืองชัยนาท ถามถึงภารกิจที่ให้เป็นด่านหน้า ในการเคาะประตูบ้านช่วยคัดกรองโควิด-19 ในระดับชุมชน และทำไมถึงตัดสินใจมาทำหน้าที่ อสม.

เส้นทางการรับหน้าที่ อสม.

คุณป้าบุญศรี บอกว่า เริ่มสมัครเข้ามาเป็น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เมื่อปี 2541 และ เข้ารับตำแหน่ง ประธาน อาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2558 ซึ่งรวมแล้วก็ 20 กว่าปี 

ทำหน้าที่อะไรบ้าง

คอยดูแลเป็นกระบอกเสียงให้คนในหมู่บ้าน ซึ่ง อสม. 1 คนจะดูแลลูกบ้านที่ตนเองรับผิดชอบ 5-7 หลังคาเรือน อาทิ ดูแลผู้สูงอายุ ป่วยติดเตียง ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ตลอดจนหลังคลอด พร้อมทั้งให้ความรู้และข้อมูล เพื่อให้เข้าใจสาเหตุของโรคและวิธีป้องกันรักษาโรคเช่น ไข้เลือดออก และ ล่าสุดคือโควิด-19 ฯลฯ

ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือ ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง เพราะถ้ามีแผลต้องคอยทำความสะอาดเพื่อไม่ให้เกิดแผลกดทับ และต้องคอยวัดไข้ วัดความดัน เจาะเลือด ถ้ามีไข้สูงๆก็ต้องพาไปพบแพทย์ พบหมอประจำตำบล หรือ โรงพยาบาล นอกจากนี้ยังคอยดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้ได้ตรวจสุขภาพประจำปี ถ้ามีประชาชนเจ็บป่วยก็จะนำเข้าระบบสู่การรักษา

คุณป้าบุญศรี เผยอีกว่า เมื่อก่อนจะมีการประชุมประจำเดือน ทุกวันที่ 7 ของทุกเดือน แต่ตอนนี้ไม่ได้ประชุมเพราะมีการติดเชื้อโควิด-19 เพราะต้องทำจิตอาสาด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีการพูดคุยวางแผนการทำงานกันอยู่ตลอด


อสม.กับภารกิจช่วงโควิด ทำอะไรบ้าง

ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับ Social Distancing อาทิ ร่วมเป็นทีมตั้งด่านชุมชนให้ความรู้และคัดกรองกลุ่มเสี่ยง จดบันทึกมาจากไหน อยู่ในกลุ่มไหน (สีเหลือง - สีเขียว - แดง) วัดอุณหภูมิ จากนั้นจดบันทึกรายงานหมออนามัยทันที ซึ่งถ้ามีไข้สูงหมอจะลงมาดูซักประวัติอีกที ในกรณีกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักกันตัวดูอาการโควิด-19 อยู่ที่บ้าน หรือ ที่ศูนย์พักคอย ซึ่ง อสม. จะคอยเป็นทีมดูแลเฝ้าระวัง ติดตามอาการของผู้ถูกกักตัวทุกคน รวมถึงพาประชาชนไปฉีดวัคซีนซึ่งการได้รับวัคซีนนั้นจะคัดกรองผู้ที่มีอายุ หรือ โรคประจำตัวไปก่อน เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง

นอกจากนี้ช่วงที่โควิด-19 ระบาดในจังหวัดชัยนาทเองก็มีการตั้งด่านตรวจเข้ม คัดกรองผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัด นอกจากตร.ฝ่ายปกครอง สาธารณสุขแล้ว อสม. ก็ไปร่วมด้วยเช่นกัน ซึ่งการออกไปตั้งด่านแต่ละครั้งนั้นจะเป็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป นอกจากที่กล่าวไปแล้วยังปฏิบัติงานช่วยชุมชนอีกหลายอย่าง อาทิ ตอนนี้โควิดระบาดหนัก อสม. เองก็ช่วยลูกบ้านที่ต้องไปพบหมอที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ด้วยการรับยาจากหมอมาส่งให้กับประชาชนถึงบ้าน เพื่อลดความแออัดและเลี่ยงการติดเชื้อโควิด

ได้ฉีดวัคซีนโควิดหรือยัง

คุณป้าบุญศรี บอกว่า อสม.ในจังหวัดทยอยฉีดกันแล้วรวมถึงตนด้วย 


มาตรการเคาะประตูบ้านคืออะไร? 

คือการให้ความรู้แก่ประชาชน ผ่านช่องทางต่างๆตามวิถีชุมชน เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเฝ้าระวังเชื้อโรคอุบัติใหม่ เช่น ให้ความรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด ว่าสำคัญอย่างไร ทำไมต้องฉีดเพราะช่วงแรกยังมีประชาชนที่ไม่เข้าใจและต่อต้านการรับวัคซีน รวมถึงแจกแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัยให้กับประชาชนในหมู่บ้านด้วย

ภูมิใจกับหน้าที่ อสม. แค่ไหน

คุณป้าบุญศรี บอกว่า ภูมิใจในหน้าที่ อสม. มากเป็นงานจิตอาสาเพราะเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่น สามารถเป็นกระบอกเสียงและช่วยเหลือคนในหมู่บ้านได้ 

คุ้มไหมกับค่าเหนื่อย

คุณป้าบุญศรี บอกว่า ผลตอบแทน 1,000 บาทที่ได้รับไม่ได้มากมายอะไร แต่อยากช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่ตนเองจะทำได้ ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีค่าป่วยการ แต่ตนก็ทำด้วยใจและจิตอาสาล้วนๆมาโดยตลอด ซึ่ง อสม. ก็ได้รับสวัสดิการการช่วยเหลืออื่นๆ อาทิ กรณีเจ็บป่วยได้ ค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง ค่าอาหารแบบ 100% คนในครอบครัวก็ได้ด้วยแต่ได้สิทธิ 50% 

นอกจากนี้ทางผู้ใหญ่ยังมองเห็นคุณค่าของ อสม. จิตอาสา ด้วยการให้ อสม. สมัครสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย (ฌกส. อสม.) เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับ อสม. และ หลักประกันความมั่นคง เสริมสร้างขวัญและกำลังใจ

 

อยากเชิญชวนคนรุ่นใหม่มาเป็น อสม. ไหม เพราะอะไร

คุณป้าบุญศรี บอกว่า ก็อยากชวนคนรุ่นใหม่นะ เพราะถ้า อสม. รุ่นปัจจุบันหมดหน้าที่หรือทำไม่ไหว ก็จะไม่มีใครมาช่วยดูแลประชาชนในหมู่บ้าน และอยากได้คนที่มีความรู้ อ่านออกเขียนได้ กล้าคิดกล้าทำกล้าแสดงออก อสม. รุ่นใหม่ต้องเก่งทุกคนค่ะ  


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง