รีเซต

ย้อนรอย “ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย” “แพนด้ายักษ์”ทูตสันถวไมตรี “ไทย-จีน”

ย้อนรอย “ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย” “แพนด้ายักษ์”ทูตสันถวไมตรี “ไทย-จีน”
TNN ช่อง16
1 กุมภาพันธ์ 2567 ( 19:14 )
77
ย้อนรอย “ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย” “แพนด้ายักษ์”ทูตสันถวไมตรี “ไทย-จีน”

          “แพนด้ายักษ์”(Giant Panda)ในฐานะสัญลักษณ์ทูตสันถวไมตรี หรือ การทูตแพนด้า ( Panda diplomacy ) เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2484 จีนจะส่ง“แพนด้ายักษ์” ไปให้ในลักษณะของขวัญเนื่องจากเป็นสัตว์หายาก พบได้ในป่าทางตอนกลางของประเทศจีนเท่านั้น ภายหลังพบว่าจำนวน“แพนด้ายักษ์”ในจีนลดลงทำให้ปี 2527 เป็นต้นมา จึงเปลี่ยนแนวทางส่ง “แพนด้ายักษ์” ไปในประเทศต่าง ๆ ในลักษณะสัญญาเช่าเพื่อการอนุรักษ์แทน (Leased) โดยให้ยืมเป็นเวลา10 ปี สามารถต่อสัญญาได้  มีค่าธรรมเนียมพื้นฐานปีละ 1,000,000 เหรียญสหรัฐ และมีข้อกำหนดว่าลูกของ “แพนด้ายักษ์”       ที่เกิดระหว่างการยืมนั้นถือเป็นทรัพย์สินของจีน



          สำหรับประเทศไทยเมื่อปี 2544 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้เริ่มต้นเจรจาขอแพนด้าจาก เจียง เจ๋อ หมิน ประธานาธิบดีจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีน จากนั้นในเดือนตุลาคม 2546 แพนด้ายักษ์ 2 ตัว “ช่วงช่วง”และ “หลินฮุ่ย”  ได้มาอยู่ไทยโดยมี“สวนสัตว์เชียงใหม่” เป็นผู้ดูแลสร้างกระแส “แพนด้าฟีเวอร์” นักท่องเที่ยวต่างหลั่งไหลไปชมความน่ารัก สร้างรายได้และเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่คึกคัก    เป็นอย่างมาก   ก่อนที่จะให้กำเนิดลูกชื่อ “หลินปิง”เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 นับเป็นลูกแพนด้าตัวแรกที่เกิดในประเทศไทยด้วยวิธีผสมเทียมของนักวิจัยไทย จากนั้นเมื่อ“หลินปิง”อายุได้ 4 ปีจึงส่งกลับประเทศจีนตามสัญญา   และเมื่อครบสัญญาเช่า 10 ปี  มติครม.ได้ต่อสัญญารอบที่ 2 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึง ตุลาคม 2566  แต่“ช่วงช่วง”ตายในเดือนกันยายน  2562 ขณะอายุ 19 ปี ทำให้ “หลินฮุ่ย” ต้องอยู่ตัวเดียวตลอด 4 ปี  และในเดือนเมษายน 2566 “หลินฮุ่ย” ก็ตาย รวมระยะเวลาอาศัยอยู่ในไทยนาน  20 ปี ทิ้งไว้เหลือเพียงความทรงจำและปิดตำนาน “แพนด้าเมืองไทย”



          กระแส “แพนด้าฟีเวอร์” ได้กลับมาอีกครั้งเมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้พูดคุยกับ นายหวัง อี้ รมว.ต่างประเทศจีน ระหว่างเดินทางเยือนไทย โดยหวัง อี้ พร้อมสนับสนุนการนำ"แพนด้ายักษ์" ชุดใหม่มาให้ประเทศไทยดูแลเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ทางการทูตในโอกาสครบรอบ 50 ในปี 2568 


          

          นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ ยืนยันว่า สวนสัตว์เชียงใหม่มีความพร้อมดูแล “แพนด้ายักษ์” เพราะมีประสบการณ์มาแล้ว 20 ปีและยังได้รับคำแนะนำจากฝ่ายจีนมาโดยตลอด มีการติดต่อประสานงานกันอย่างต่อเนื่องทั้งฝ่ายไทยและจีน  ทำให้มีความพร้อมอย่างมาก ทั้งเรื่องบุคลากร ทีมสัตวแพทย์ สถานที่ และองค์ความรู้ต่างๆ  ซึ่งปัจจุบันสวนสัตว์เชียงใหม่ยังคงเปิดส่วนจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมตามปกติ เพราะต้องการให้ได้มาสัมผัสบรรยากาศ        มีสแตนดี้ของ “ช่วงช่วง” “หลินฮุ่ย” ขนาดเท่าตัวจริงตั้งไว้ในส่วนจัดแสดงเพื่อให้หายคิดถึง  จึงถือเป็นข่าวดีอย่างมากที่จีนพร้อมส่งแพนด้ามาไทยอีกครั้ง 


           

          ข้อมูลจากสำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งชาติจีน (National Forestry and Grassland Administration) รายงานว่า ปัจจุบันมี “แพนด้ายักษ์” (Giant Panda)  ในป่าธรรมชาติกว่า 1,900 ตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,100 ตัวในช่วงทศวรรษ 1980 และอีกกว่า 600 ตัว อยู่ในศูนย์เพาะพันธุ์ฯ การเพิ่มขึ้นของจำนวน“แพนด้ายักษ์” มาจากความพยายามเพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองโดยจัดตั้ง    “อุทยานแห่งชาติแพนด้ายักษ์” ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะเมื่อตุลาคม 2564 การดำเนินการดังกล่าวช่วยคุ้มครองแพนด้ายักษ์ป่าร้อยละ 72  นอกจากนี้ยังได้เพิ่มพื้นที่คุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัย”แพนด้ายักษ์”จากประมาณ 8 ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ นับตั้งแต่ปี 2555 และได้ประกาศว่า “แพนด้ายักษ์” ไม่ได้ถูกจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species) ในจีนอีกต่อไป  



          ปัจจุบันมี “แพนด้ายักษ์”ประมาณ 60  ตัวอาศัยอยู่ในสวนสัตว์ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 20  แห่ง  เช่น  ฝรั่งเศส เยอรมนี  สเปน รัสเซีย และสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้เหลือแพนด้าในประเทศเพียง 1 ตัว ส่วนญี่ปุ่น มีแพนด้ายักษ์มากที่สุด 9 ตัว โดยรัฐบาลจีนได้มอบแพนด้า 2 ตัว ให้สวนสัตว์อูเอโนะ ซึ่งเป็นสวนสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดเมื่อปี 2515 เนื่องในโอกาสฟื้นความสัมพันธ์ทวิภาคีกับญี่ปุ่น 

         “แพนด้ายักษ์”ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์แสดงออกถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งจีนมีต่อประเทศต่างๆ เท่านั้น ยังถือเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ หรือแสดงออกถึงความใกล้ชิดทางการเมืองอีกด้วย จึงอาจจะเรียกได้ว่า “แพนด้ายักษ์” เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ระดับชาติและระดับโลกก็ว่าได้ 






 ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊ก สวนสัตว์เชียงใหม่ Chiang Mai Zoo

สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters)

สำนักข่าวซินหัว (Xinhua)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง