รีเซต

ปลูกถ่าย "ไมโทคอนเดรีย" รักษาโรคสมองและหัวใจขาดเลือด

ปลูกถ่าย "ไมโทคอนเดรีย" รักษาโรคสมองและหัวใจขาดเลือด
TNN ช่อง16
18 มีนาคม 2565 ( 13:49 )
92
ปลูกถ่าย "ไมโทคอนเดรีย" รักษาโรคสมองและหัวใจขาดเลือด

คุณอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของการปลูกถ่ายอวัยวะหรือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเซลล์หรืออวัยวะ เหมือนการเปลี่ยนของใหม่เข้าไปแทนที่ของเดิมที่ใช้การไม่ได้ นั่นทำให้เทคโนโลยีการปลูกถ่ายกลายเป็นเรื่องที่วงการแพทย์จากทั่วโลกให้ความสนใจ




ไมโทคอนเดรีย หนึ่งในอวัยวะสำคัญของเซลล์


ถึงกระนั้น คุณรู้หรือไม่ว่านอกจากการปลูกถ่ายอวัยวะและเซลล์แล้ว ปัจจุบันยังมีการปลูกถ่ายอีกอย่างหนึ่งที่อาจกลายเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาอวัยวะขาดเลือด นั่นคือการปลูกถ่าย "ส่วนประกอบในเซลล์" ซึ่งส่วนประกอบในที่นี้ คือ ไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) ทำหน้าที่สร้างพลังงานภายในเซลล์ และมีบทบาทต่อความอยู่รอดของเซลล์สิ่งมีชีวิตทุกชนิดด้วย


หากมองว่าเซลล์คือร่างกาย ส่วนประกอบที่อยู่ภายในเซลล์จึงเป็นอวัยวะของเซลล์ ทำให้ส่วนประกอบเหล่านี้ถูกเรียกว่า ออร์แกเนลล์ (Organelle - คำว่า Organ หมายถึงอวัยวะ) ซึ่งไมโทคอนเดรียเป็นออร์แกเนลล์ที่สำคัญในการสร้างพลังงานให้แก่เซลล์ หากเซลล์มีไมโทคอนเดรียลดลงจะส่งผลต่อกระบวนการทางชีวเคมี และอาจนำมาซึ่งการตายของเซลล์ในที่สุด


ไมโทคอนเดรีย
ที่มาของภาพ Wikimedia commons

 



การรักษาสุดท้ายเพื่อยื้อชีวิต


เอเวอรี ไบลแอส (Avery Blias) หนูน้อยวัย 6 ปี เคยได้รับการปลูกถ่ายไมโทคอนเดรียเพื่อรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ย้อนกลับไปช่วงแรกคลอด เอเวอรีประสบปัญหาหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิดและได้รับการผ่าตัดแก้ไข จนสามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม 2 เดือนถัดมาเอเวอรีมีอาการตัวเขียวและอ่อนแรงลงมาก แพทย์จึงเตรียมผ่าตัดให้เธออีกครั้ง แต่พบว่ากล้ามเนื้อหัวใจของเธอมีประสิทธิภาพลดลงอย่างมากจากการขาดเลือด และอีกไม่นานเอเวอรีอาจจะต้องจากโลกนี้ไปในที่สุด


เมื่อทางเลือกมีไม่มากนัก มารดาของเอเวอรีจึงอนุญาตให้แพทย์ทำการทดลองปลูกถ่าย "ไมโทคอนเดรีย" (Mitochondrial transplant) เข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ หลังกระบวนการเสร็จสิ้นปรากฏว่ากล้ามเนื้อหัวใจของเอเวอรีเริ่มกลับมาทำงานอีกครั้ง และพร้อมที่จะเข้ารับการผ่าตัดใหม่ได้ 


ที่มาของภาพ JCI

 


เอเวอรีเข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมหัวใจมาแล้ว 6 ครั้ง และอาการของเธอดีขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถเข้าร่วมชั้นเรียนเต้นได้เช่นเดียวกับเด็กนักเรียนคนอื่น ๆ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าการปลูกถ่ายไมโทคอนเดรียมีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะอวัยวะขาดเลือดได้



หนทางใหม่ในการรักษาโรคอวัยวะขาดเลือด


เคเชฟ ซิงห์ (Keshav Singh) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอลาบามา เบอร์มิงแฮม สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการปลูกถ่ายไมโทคอนเดรียและเป็นผู้ดำเนินกระบวนการปลูกถ่ายให้แก่เอเวอรี ไบลแอสด้วย เขาเชื่อว่าไมโทคอนเดรียมีความเกี่ยวข้องกับความแก่ชราและการตายของเซลล์ 


จากการทดลองในปี ค.ศ. 2018 เคยมีการทดลองตัดต่อพันธุกรรมของหนู ให้เซลล์ในร่างกายสร้างไมโทคอนเดรียได้น้อยกว่าปกติ ผลปรากฏว่าเซลล์ของหนูเหล่านั้นมีภาวะแก่ก่อนวัยอันควร แต่เมื่อกระตุ้นให้เซลล์สร้างไมโทคอนเดรียเพิ่มขึ้น กลายเป็นว่าเซลล์ที่แก่ชรากลับมาทำงานได้อย่างปกติราวกับถูกย้อนวัยอีกครั้งหนึ่ง


ดังนั้น ซิงห์จึงมองว่าการปลูกถ่ายไมโทคอนเดรียมีส่วนช่วยให้อวัยวะที่ได้รับความเสียหายจากการขาดเลือด กลับมาทำงานได้ตามปกติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการขาดเลือด โดยเฉพาะโรคหัวจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) ได้


ที่มาของภาพ Unsplash

 


ทั้งนี้ แม้กระบวนการปลูกถ่ายไมโทคอนเดรียจะดำเนินการภายในเวลาอันสั้นราว 30 นาที แต่ผู้ปลูกถ่ายจำเป็นต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากหากไมโทคอนเดรียที่ปลูกถ่ายเกิดเสียหายขึ้นมา สารต่าง ๆ ภายในไมโทคอนเดรียที่รั่วไหลจะกลายเป็นอันตรายต่อเซลล์ได้


อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายไมโทคอนเดรีย สามารถเก็บรวบรวมไมโทคอนเดรียจากเซลล์ในร่างกายของผู้ป่วยได้เลย ไม่เหมือนกับการปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องใช้อวัยวะจากผู้บริจาค ดังนั้น ไมโทคอนเดรียที่ปลูกถ่ายจะเข้ากันได้ดีกับเซลล์ของผู้ป่วย และไม่ต้องพึ่งพายากดภูมิใด ๆ หากการปลูกถ่ายดำเนินไปได้สำเร็จก็แทบจะไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ


ในอนาคตซิงห์เชื่อว่าการปลูกถ่ายไมโทคอนเดรียจะกลายเป็นอีกหนึ่งกระบวนการรักษาที่สำคัญ ในการรักษาโรคอวัยวะขาดเลือดต่าง ๆ และอาจพัฒนาสู่การรักษาโรคที่เกิดจากการเสื่อมถอยของเซลล์ ไปจนถึงการทำยาอายุวัฒนะได้ด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก National Geographic


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง