รีเซต

Say Hello เพื่อนบ้านต่างดาว รู้จัก 12 องค์กรสำรวจอวกาศระดับโลก

Say Hello เพื่อนบ้านต่างดาว รู้จัก 12 องค์กรสำรวจอวกาศระดับโลก
TNN ช่อง16
11 มกราคม 2567 ( 09:56 )
60
Say Hello เพื่อนบ้านต่างดาว รู้จัก 12 องค์กรสำรวจอวกาศระดับโลก

อวกาศอันกว้างใหญ่ยังมีปริศนามากมายให้มนุษย์เราค้นหาคำตอบ และมนุษย์เราก็ยังพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศอย่างต่อเนื่อง แต่มีหน่วยงานไหนบ้างที่ทำงานด้านนี้อยู่ วันนี้ TNN Tech พามาดู 12 องค์กรสำรวจอวกาศระดับโลก

1. องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา (National Aeronautics and Space Administration : NASA)

ปีที่ก่อตั้ง : 1958

งบประมาณประจำปี : 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8.38 แสนล้านบาท


เชื่อว่าหากพูดถึงหน่วยงานด้านสำรวจอวกาศ ชื่อหน่วยงานนี้ต้องพุ่งเข้ามาเป็นอันดับแรกเป็นแน่ กับองค์การนาซา (NASA) หรือชื่อเต็มคือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration) ซึ่งเป็นเวลากว่า 6 ทศวรรษแล้วที่องค์การนาซาเป็นผู้นำการสำรวจอวกาศ ค้นพบเกี่ยวกับโลก ดาวเคราะห์ดวงอื่น ระบบสุริยะ กาแล็กซี และจักรวาล


เราหลายคนรู้จักภารกิจที่มีชื่อเสียงหลายภารกิจของนาซา อย่างภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์อย่างอพอลโล (Apollo) การปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเพื่อถ่ายภาพจักรวาล ภารกิจฟรีดอม-7 (Freedom-7) เพื่อส่งชาวอเมริกันคนแรกขึ้นไปยังอวกาศ และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่รู้หรือไม่ว่าองค์การนาซา ประกอบด้วยคณะกรรมการภารกิจ 4 คณะด้วยกัน ได้แก่


1. การวิจัยการบินเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการบินขั้นสูง

2. วิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาการกำเนิดและวิวัฒนาการของโลก ระบบสุริยะ และจักรวาล

3. เทคโนโลยีอวกาศเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศและวิทยาศาสตร์อวกาศ

4. การสำรวจและปฏิบัติการของมนุษย์เกี่ยวข้องกับการจัดการโครงการอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุม ซึ่งรวมถึงโครงการสำหรับ ISS (International Space Station สถานีอวกาศนานาชาติ) ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยยานอวกาศ การสื่อสารในอวกาศ และการขนส่ง


องค์การนาซามีศูนย์วิจัยในเครือหลายแห่ง เช่น ศูนย์อวกาศจอห์นสัน ห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนด้วยไอพ่น ศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด และศูนย์วิจัยแลงลีย์ มีพนักงานประมาณ 17,950 คน


นาซามีงบประมาณประจำปีประมาณ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.38 แสนล้านบาท ซึ่งใช้ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1.04 แสนล้านบาทต่อปีไปกับ ISS ซึ่งส่วนใหญ่ใช้จ่ายด้านห้องปฏิบัติการวิจัยสภาวะไร้น้ำหนักและสภาพแวดล้อมในอวกาศ รวมถึงใช้เพื่อทดสอบเครื่องมือยานอวกาศที่จำเป็นสำหรับภารกิจระยะยาวไปยังดาวอังคารและดวงจันทร์ด้วย


2. องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration : CNSA)

ปีที่ก่อตั้ง : 1993

งบประมาณประจำปี : 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.84 แสนล้านบาท


นี่คือหน่วยงานที่รับผิดชอบในการวางแผนและปฏิบัติภารกิจอวกาศทั้งหมดในระดับชาติของจีน มีสถานีอวกาศของตัวเองชื่อ เทียนกง (Tiangong) มีน้ำหนักประมาณ 95 - 100 ตัน (คิดเป็น 20% ของน้ำหนัก ISS ของนาซา) ซึ่งโคจรอยู่ในวงโคจรโลกต่ำในระยะความสูงเหนือพื้นโลกที่ประมาณ 330 - 450 กิโลเมตร 


CNSA ได้พัฒนาจรวดลองมาร์ช (Long March) ซึ่งเป็นตระกูลจรวดระบบส่งกำลังแบบใช้แล้วทิ้ง เพื่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ตั้งแต่พัฒนาจนกระทั่งปัจจุบัน ลองมาร์ชประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวดไปแล้วกว่า 350 ครั้ง 


ในปี 2003 จีนส่งมนุษย์ขึ้นไปยังอวกาศ ถือเป็นประเทศที่ 3 ที่ส่งมนุษย์ขึ้นไปยังอวกาศสำเร็จ ถัดจากสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา และนับจนกระทั่งปัจจุบัน จีนก็ส่งนักบินขึ้นไปยังอวกาศ 16 คนแล้ว


ในส่วนของภารกิจไร้คนขับ CNSA ได้บรรลุเป้าหมายสำคัญมากมาย ตัวอย่างเช่น ในปี 2014 หน่วยงานประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดวงจันทร์ โดยใช้หุ่นยนต์ลงจอดและสำรวจดวงจันทร์ที่มีชื่อว่าฉางเอ๋อ-3 (Chang'e 3)


3. องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency : ESA)

ปีที่ก่อตั้ง : 1975

งบประมาณประจำปี : 7,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.67 แสนล้านบาท


องค์การอวกาศยุโรปเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีรัฐสมาชิก 22 ประเทศ ESA ยังเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของ ISS โดยได้พัฒนาโมดูลห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ชื่อโคลัมบัส และโมดูลหอดูดาวชื่อคิวโปลาให้ ISS


นับตั้งแต่ก่อตั้งเป็นต้นมา ESA มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในภารกิจสำรวจดวงจันทร์และดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ พัฒนายานไร้คนขับ ด้านโทรคมนาคม การพัฒนายานอวกาศ และการสังเกตการณ์โลกด้วย รวมถึงได้มีการพัฒนาระบบปล่อยยานอวกาศของตัวเองชื่อแอเรียน (Arian) ซึ่งผ่านการพัฒนามาหลายรุ่นตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา


ส่วนโปรเจกต์ที่เพิ่งดำเนินการเร็ว ๆ นี้ของ ESA ได้แก่ วีนัส เอ็กซ์เพรส (Venus Express) ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลจากวงโคจรขั้วโลกรอบดาวศุกร์มายังโลก และลิซ่า พาธฟินเดอร์ (LISA Pathfinder) ซึ่งเป็นโปรเจกต์ศึกษาคลื่นความโน้มถ่วง รวมถึงโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับองค์การนาซาอย่างกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ด้วย


4. องค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย หรือ รอสคอสมอส (Russian Federal Space Agency : Roscosmos)

ปีที่ก่อตั้ง : 1992

งบประมาณประจำปี : 1,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 67,100 ล้านบาท


รอสคอสมอสเป็นศูนย์กลางการประสานงานเกี่ยวกับงานอวกาศทุกประเภทในรัสเซีย ทั้งนี้รอสคอสมอสเกิดจากการรวมอุตสาหกรรมอวกาศของรัสเซีย (ที่เกิดมาจากโซเวียต) และ บริษัท ยูไนเต็ด ร็อคเก็ต แอนด์ สเปซ คอร์ปอเรชั่น ดังนั้นถึงแม้จะก่อตั้งเมื่อปี 1992 แต่ก็ประวัติสืบทอดอย่างยาวนานภายใต้โครงการอวกาศของสหภาพโซเวียตในอดีต


โดยตั้งแต่ปี 1995 - 1965 โครงการอวกาศของสหภาพโซเวียตได้เป็นผู้ริเริ่มเหตุการณ์ทางอวกาศเป็นหน่วยงานแรกหลายเหตุการณ์ เช่น การปล่อยดาวเทียมดวงแรกของโลกชื่อ สปุตนิก-1 หรือการส่งมนุษย์คนแรก ชื่อ ยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) ขึ้นไปยังอวกาศ หรือการส่งยานอวกาศชื่อลูน่า-1 (Luna-1) ขึ้นไปยังดวงจันทร์เป็นลำแรกของโลก


รอสคอสมอสก่อตั้งขึ้นมาหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย ปัจจุบันเป็นหน่วยงานที่ให้บริการส่งยานอวกาศไปยังประเทศอื่น ๆ และปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับยานอวกาศต่าง ๆ ของตนเอง เช่น ดาวเทียมนำทางโกลนาส (GLONASS) ดาวเทียมโทรคมนาคม และดาวเทียมทางการทหาร 


5. สเปซเอ็กซ์ (SpaceX)

ปีที่ก่อตั้ง : 2002

งบประมาณประจำปี : ไม่เปิดเผย เนื่องจากเป็นหน่วยงานเอกชน


นี่ถือเป็นหน่วยงานเอกชนหน่วยงานแรกที่สามารถแข่งขันด้านอวกาศกับหน่วยงานของรัฐบาลได้ ปัจจุบันได้บรรลุเหตุการณ์สำคัญหลายประการ เช่น จรวดเชื้อเพลิงเหลวลำแรกที่ได้รับทุนสนับสนุนจากเอกชนชื่อฟอลคอน 1(Falcon 1) ขึ้นสู่วงโคจรในปี 2008 หรือ การเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่ส่งยานอวกาศชื่อดรากอน (Dragon) ให้ ISS ในปี 2012


ปัจจุบันสเปซเอ็กซ์เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตการบินและอวกาศเอกชนและบริษัทผู้ให้บริการขนส่งอวกาศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด วัตถุประสงค์หลักของพวกเขาคือการลดราคาและปรับปรุงความน่าเชื่อถือในการไปยังอวกาศ


นอกจากนั้นสเปซเอ็กซ์ยังเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมด้วยคือ สตาร์ลิงค์ (Starlink) กำไรที่ได้จากสตาร์ลิงค์ ก็จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายระยะยาวของสเปซเอ็กซ์ด้วย ก็คือการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร 


6. องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organisation : ISRO)

ปีที่ก่อตั้ง : 1969

งบประมาณประจำปี : 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 59,400 ล้านบาท


องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดียใช้เทคโนโลยีด้านอวกาศเพื่อการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันก็สำรวจดาวเคราะห์และการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศไปด้วย พวกเขามีชุดดาวเทียมที่ชื่อว่าอินแซท (INSAT) และดาวเทียมสำรวจระยะไกล (IRS) ที่ตอบสนองความต้องการด้านโทรคมนาคมและการสังเกตการณ์โลก


นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับดาวเทียมโดยเฉพาะ รวมถึงแอปพลิเคชันเพื่อช่วยในการพยากรณ์อากาศ การนำทาง ระบบข้อมูลทางภูมิศาสตร์ การแพทย์ทางไกล และการดำเนินการค้นหาและกู้ภัย


ISRO มีชื่อเสียงในด้านระบบส่งยานอวกาศที่คุ้มต้นทุนและเชื่อถือได้ ยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของอินเดียเปิดตัวในปี 2008 โดยส่งขึ้นอวกาศโดยใช้ยานส่งดาวเทียมโพลาร์ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,900 บาทเท่านั้น


ในปี 2014 พวกเขาส่งยานอวกาศไปยังวงโคจรดาวอังคารได้สำเร็จ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับภารกิจนี้คือ 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,600 ล้านบาท ทำให้เป็นภารกิจดาวอังคารที่คุ้มทุนที่สุดเท่าที่เคยมีมา


7. สำนักงานสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency : JAXA)

ปีที่ก่อตั้ง : 1993

งบประมาณประจำปี : 1,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 54,200 ล้านบาท


JAXA เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการพัฒนาด้านการบินและอวกาศโดยรวมของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยดำเนินงานแบบบูรณาการ ตั้งแต่การวิจัยขั้นพื้นฐานไปจนถึงการใช้งานเทคโนโลยี มีส่วนร่วมในภารกิจขั้นสูงหลายอย่าง รวมถึงการปล่อยดาวเทียม การสำรวจดาวเคราะห์น้อย และภารกิจที่อาจส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์


ปี 2005 เปิดตัวดาวเทียม Multi-Functional Transport Satellite 1R สำหรับการสังเกตการณ์สภาพอากาศ ปีต่อมาก็เปิดตัวดาวเทียมเวอร์ชั่นที่ 2 เพื่อช่วยควบคุมการจราจรทางอากาศ และไม่กี่ปีที่ผ่านมา


JAXA ได้ร่วมมือกับ NASA ในหลาย ๆ โครงการ รวมถึงดาวเทียมแกนกลางการวัดปริมาณฝนทั่วโลก ดาวเทียมสังเกตการณ์โลกใต้น้ำ และภารกิจตรวจวัดปริมาณน้ำฝนเขตร้อน อย่างไรก็ตามจุดสนใจหลักของพวกเขาคือการทดสอบและการใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ในปี 2018 JAXA ได้ประกาศว่าจะร่วมมือกับบริษัทโซนี่ (Sony) เพื่อศึกษาระบบการสื่อสารด้วยเลเซอร์จากคิบู (Kibo) (โมดูล ISS)


8. ศูนย์ศึกษาอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส (National Centre for Space Studies : CNES)

ปีที่ก่อตั้ง : 1961

งบประมาณประจำปี : 2,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 95,400 ล้านบาท


CNES มุ่งเน้นไปที่ 5 ประเด็นหลัก คือ การใช้ความรู้อวกาศเพื่อพลเรือน การเข้าถึงอวกาศ การวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาที่ยั่งยืน และความปลอดภัยและการป้องกัน


ปัจจุบัน CNES กำลังทำงานร่วมกับเยอรมนีและรัฐบาลประเทศอื่น ๆ เพื่อพัฒนายานปล่อยจรวดแบบใช้ซ้ำได้ ขับเคลื่อนด้วยก๊าซมีเทน จุดมุ่งหมายคือการลดต้นทุนลงอย่างมากและลดระยะเวลาในการนำจรวดกลับมาใช้ใหม่อีกรอบ CNES ยังทำงานร่วมกับ ISRO เพื่อส่งดาวเทียม Megha-Tropiques ขึ้นสู่วงโคจร นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับนาซาในหลายภารกิจ เช่น ดาวเทียมวิจัยการสังเกตการณ์โลกอย่างพาราซอล (PARASOL) และดาวเทียมสภาพแวดล้อมและสภาพอวกาศคาลิปโซ (CALIPSO)


9. องค์การอวกาศอิตาลี (Italian Space Agency : ASI)

ปีที่ก่อตั้ง : 1988

งบประมาณประจำปี : 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 74,000 ล้านบาท


ในเวลาไม่ถึง 30 ปีนับจากการก่อตั้ง ASI ได้กลายเป็นหนึ่งในองค์กร้านวิทยาศาสตร์อวกาศและเทคโนโลยีดาวเทียม 


ในปี 1996 ASI ได้เปิดตัวภารกิจดาวเทียมขนาดใหญ่ภารกิจแรกชื่อเบ็ปโปแซ็กส์ (BeppoSAX) เพื่อศึกษาต้นกำเนิดของการระเบิดรังสีแกมมา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์การณ์ที่มีพลังมากที่สุดในจักรวาล ต่อมาได้ทำงานร่วมกับองค์กรอวกาศของประเทศอื่น ๆ ในการพัฒนาโปรเจ็กต์มากมาย เช่น กัสซีนี–เฮยเคินส์ (Cassini-Huygens ภารกิจยานสำรวจดาวเสาร์และดาวบริวาร) มาร์ส เอ็กซ์เพรส (Mars Express ยานแบบโคจรรอบดาวอังคาร) มาร์สรีคอนเนสเซนซ์ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter ยานอวกาศศึกษาดาวอังคาร) วีนัส เอ็กซ์เพรา (Venus Express ยานสำรวจและโคจรรอบดาวศุกร์) ฯลฯ ปัจจุบัน ASI ได้รับการยอมรับทั้งในระดับยุโรปและระดับโลก


10. ศูนย์การบินและอวกาศเยอรมัน (German Aerospace Center : DLR)

ปีที่ก่อตั้ง : 1969

งบประมาณประจำปี : 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 52,400 ล้านบาท


DLR มุ่งเน้นไปที่อวกาศ การบิน การขนส่งพลังงาน ความปลอดภัย และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นอกเหนือจากการปฏิบัติภารกิจของตนเองแล้ว ยังวางแผนและดำเนินโครงการอวกาศในนามของรัฐบาลกลางเยอรมันอีกด้วย มีพนักงานเกือบ 10,000 คนในสำนักงานมากกว่า 30 แห่งในเยอรมนี มีสิ่งอำนวยความสะดวกและสถาบันต่าง ๆ กระจายอยู่ในไซต์งาน 13 แห่ง ซึ่งดำเนินการวิจัย การพัฒนา และการดำเนินงานต่าง ๆ 


โครงการสำคัญบางโครงการของ DLR ได้แก่ ระบบดาวเทียมนำทางทั่วโลกกาลิเลโอ (global navigation satellite system Galileo) มาร์ส เอ็กซ์เพรส (Mars Express ยานแบบโคจรรอบดาวอังคาร)


ปัจจุบันกำลังดำเนินการเกี่ยวกับการวัดระดับความสูงแบบดิจิทัลเรียกว่าแทนเด็ม เอ็กซ์ (TanDem-X) โครงการดาวเทียมพริสมา (Prisma) ดาวเทียมสังเกตการณ์โลกด้วยเรดาร์ถ่ายภาพเทอร์ราซาร์ เอ็กซ์ (TerraSAR-X) ฯลฯ


ส่วนใหญ่ DLR กำลังทำงานเกี่ยวกับการผลิตพลังงานคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำที่มีประสิทธิภาพสูง เทคโนโลยีการสร้างพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ และแหล่งพลังงานหมุนเวียน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พวกเขาจะทำการวิจัยในด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีการขับเคลื่อน การพัฒนาดาวเทียม และแนวคิดเกี่ยวภารกิจอวกาศด้วย


DLR ยังลงทุนอย่างมากในเทคโนโลยีควอนตัม โดยได้จัดตั้งสถาบันแยกต่างหากเพื่อดำเนินการวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับระบบเซ็นเซอร์ควอนตัมบนสถานีอวกาศนานาชาติ และพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันสำหรับคอมพิวเตอร์ควอนตัมด้วย


11. สถาบันวิจัยการบินและอวกาศเกาหลี (Korea Aerospace Research Institute : KARI)


ปีที่ก่อตั้ง : 1989

งบประมาณประจำปี : 553 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 19,300 ล้านบาท


KARI มีเป้าหมายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศและชีวิตของประชากรผ่านการสำรวจ การพัฒนา และความก้าวหน้าทางเทคนิคในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ ปัจจุบันพัฒนาโปรเจกต์ต่าง ๆ เช่น ดาวเทียมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี STSAT ดาวเทียมสื่อสาร มหาสมุทร และอุตุนิยมวิทยา COMS และดาวเทียมอเนกประสงค์ของเกาหลีที่ชื่อ KOMPSAT


ในปี 2021 KARI เปิดตัว KSLV-2 ซึ่งเป็นจรวดที่มีน้ำหนักบรรทุก 1,500 กิโลกรัม ต่อมาในปี 2022 ใช้ KSLV-2 เพื่อส่งดาวเทียมตรวจสอบประสิทธิภาพขึ้นสู่วงโคจรแบบซิงโครนัสดวงอาทิตย์ (700 กิโลเมตร) และกลายเป็นประเทศที่ 7 ที่ส่งดาวเทียมขนาดใหญ่ (มากกว่า 1 ตัน) ขึ้นสู่วงโคจร


12. องค์การอวกาศแคนาดา (Canadian Space Agency : CSA)

ปีที่ก่อตั้ง : 1989

งบประมาณประจำปี : 388 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 13,600 ล้านบาท


CSA เป็นผู้นำความก้าวหน้าและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อประโยชน์ของชาวแคนาดาและมนุษยชาติ ทั้งยังให้บริการการวิจัยแก่หน่วยงานด้านอวกาศชั้นนำอื่น ๆ เช่นนาซาและ ESA โดยได้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับ ISS หลายประการ เช่น พัฒนาระบบการให้บริการมือถือ (Mobile Servicing System) มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐของ ISS ประกอบด้วยเด็กเทอร์ (Dextre) แคนาดาร์ม 2 (Canadarm2) ฯลฯ ปัจจุบันมีงานวิจัยของ CSA มากกว่า 20 งานที่ดำเนินการ ISS และบางส่วนยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ


ที่มาข้อมูล Rankred, Wikipedia

ที่มารูปภาพ Wikipedia, DLR, Arianespace, NASA, GISTDA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง