รีเซต

สัตยา นาเดลลา CEO Microsoft มาไทยพบนายกฯ พร้อมเปิดตัว Data Center ของ Microsoft แห่งแรกในไทย

สัตยา นาเดลลา CEO Microsoft มาไทยพบนายกฯ พร้อมเปิดตัว Data Center ของ Microsoft แห่งแรกในไทย
TNN ช่อง16
1 พฤษภาคม 2567 ( 20:30 )
60

ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ประกาศพร้อมผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์และ AI ในประเทศไทย เปิดตัวศูนย์ข้อมูล (Data Center) แห่งแรกของบริษัทในไทย พร้อมเสริมทักษะด้าน AI ให้กับคนไทยกว่า 100,000 คน และสนับสนุนชุมชนนักพัฒนา (Developer) ในประเทศ

ภาพรวมการจัดงาน Microsoft Build: AI Day

ประธานกรรมการและซีอีโอของไมโครซอฟท์ นายสัตยา นาเดลลา เผยถึงแผนงานทั้งหมดนี้ภายในงาน Microsoft Build: AI Day ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มาร่วมกล่าวเปิดงาน พร้อมกับเชิญเหล่านักพัฒนาและผู้นำจากภาคธุรกิจและเทคโนโลยีในประเทศไทยกว่า 2,000 คน 


แผนงานของไมโครซอฟท์ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ครอบคลุมถึงการจัดตั้ง Data Center ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในประเทศไทย เพื่อขยายการให้บริการคลาวด์ (Cloud) ในขนาดใหญ่ของไมโครซอฟท์ให้กว้างขวางและทั่วถึงยิ่งขึ้น เสริมเสถียรภาพและสมรรถนะที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานระดับองค์กรมาก รองรับมาตรฐานของประเทศไทยด้านการจัดเก็บและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างครบถ้วน


แผนการยังเป็นไปตามแนวโน้มความต้องการใช้งานบริการคลาวด์ที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย ทั้งจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่ง Microsoft เชื่อว่าจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถคว้าโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของทุกภาคส่วนด้วยเทคโนโลยี AI แบบล่าสุด


Microsoft หนุนนักพัฒนาทั่วไทยพร้อมใช้ AI อย่างเต็มศักยภาพ

ในโอกาสนี้ นายสัตยา นาเดลลา ยังได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของนักพัฒนาในการกำหนดทิศทางของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและ AI ผ่านโครงการและกิจกรรมอย่าง AI Odyssey บทเรียนด้าน AI ที่มุ่งสนับสนุนให้นักพัฒนาชาวไทยกว่า 6,000 คน ยกระดับทักษะความสามารถขึ้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่ครบเครื่องด้วยทักษะใหม่ๆ และการรับรองจากไมโครซอฟท์


Microsoft ยังพูดถึง GitHub แพลตฟอร์มชุมชนนักพัฒนาที่มีไมโครซอฟท์เป็นเจ้าของภายในงาน ว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา มีนักพัฒนาในประเทศไทยรวมกว่า 900,000 รายที่ใช้งาน GitHub หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดย Github เป็นชุมชนออนไลน์ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับนักพัฒนาทั้งในการเขียนโค้ด ประสานงาน และสร้างสรรค์นวัตกรรม 


ในขณะเดียวกัน องค์กรและหน่วยงานอื่น ๆ จำนวนมากในประเทศไทย กำลังทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์อย่างใกล้ชิดเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจาก AI ไม่ว่าจะเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ หรือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ผู้นำด้านธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ตลอดจนภาคธนาคารอย่าง บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำของประเทศไทย ได้นำบริการ Azure OpenAI Service มาเป็นรากฐานของการสร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กร เพื่อมุ่งสู่การเป็น AI-first organization 


ในขณะที่องค์กรของรัฐ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ที่นำนวัตกรรม AI พัฒนาเป็นช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถทำความเข้าใจนโยบายด้านสาธารณสุขได้ง่ายขึ้น ทั้งยังสามารถให้คำแนะนำด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่ตรงกับความต้องการของแต่ละคน รวมไปถึง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีภารกิจในการร่วมพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมาย ประกาศว่าจะนำ Copilot for Microsoft 365 เข้ามาสนับสนุนการทำงานของนักกฎหมายที่ทำงานให้กับภาครัฐ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ภายในองค์กรด้วยเช่นกัน


การพัฒนา AI สู่เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล

สัตยา นาเดลลา กล่าวว่า “ประเทศไทยมีศักยภาพโดดเด่นและโอกาสในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและ AI การเปิด Data Center ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ ควบคู่ไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ สำหรับคลาวด์และ AI รวมถึงการเสริมสร้างทักษะด้าน AI ล้วนเป็นแผนงานที่ต่อยอดพันธกิจของไมโครซอฟท์ เพื่อช่วยให้องค์กรไทย ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเติบโต ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย”


ในขณะที่ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน กล่าวว่า “การประกาศความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในวันนี้ เป็นก้าวสำคัญของเราบนเส้นทางสู่วิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND มุ่งสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคนได้เติบโต สร้างสรรค์นวัตกรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น”


โดยวิสัยทัศน์ ‘IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง’ มีเป้าหมายที่จะยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศในการสรรค์สร้างนวัตกรรม งานวิจัยและพัฒนา ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถแรงงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น 


ทั้งนี้ งานวิจัยโดยบริษัทที่ปรึกษา Kearney คาดการณ์ว่า AI จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 37,000 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030 โดยในจำนวนนี้ คิดเป็นยอด GDP ของประเทศไทยที่จะเพิ่มขึ้นถึง 117,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 4.3 ล้านล้านบาท




ข้อมูลจาก Microsoft

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง