นาซาส่งยาน Lucy ปฏิบัติการสำรวจและเคลื่อนย้ายเปลี่ยนตำแหน่งดาวเคราะห์น้อย
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือนาซ่าส่งยานสำรวจลูซี่ (Lucy) ขึ้นสู่อวกาศอวกาศเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมาโดยจรวด Atlas V 401 (AV-096) จากบริเวณฐานปล่อยจรวด SLC-41 ศูนย์อวกาศแหลมคะแนเวอรัล ยานอวกาศลำนี้จะทำภารกิจบนอวกาศยาวนาน 12 ปี สำรวจดาวเคราะห์น้อยจำนวน 7 ดวง ที่มีตำแหน่งใกล้กับดาวพฤหัสบดี ภารกิจดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการไขความดับจุดกำเนิดของระบบสุริยะจักรวาล ดาวเคราะห์น้อยและทดสอบนำยานเคลื่อนย้ายเปลี่ยนตำแหน่งดาวเคราะห์น้อย
ยานลูซี่ (Lucy) ชื่อของยานอวกาศลำนี้ถูกตั้งชื่อตาม "ลูซี่" ฟอสซิลของมนุษย์สายพันธุ์ออสตราโลพิเธคัส อฟราเรนซิส (Australopithecus Afrerensis) ที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกบริเวณทวีปแอฟริกาเมื่อ 3.2 - 2.8 ล้านปีก่อน ยานอวกาศลูซี่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Discovery Program AO พร้อมกับยานอวกาศลำอื่น ๆ 28 ลำ ในช่วงปี 2014 ต่อมาในปี 2015 นาซาได้ทำการคัดเลือกเหลือยานอวกาศเพียง 5 ลำ ในรอบสุดท้ายที่จะได้รับเงินทุน 3 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อทำการวิจัยพัฒนาข้อมูลในเชิงลึกก่อนคัดเลือกเหลือเพียง 2 ลำ คือ ยานอวกาศลูซี่ (Lucy) และยานอวกาศไซคี (Psyche) ที่ได้รับงบประมาณไปพัฒนายานอวกาศพร้อมปฏิบัติภารกิจสำรวจอวกาศ
ภารกิจของยานลูซี่ (Lucy) ยานอวกาศลำนี้จะเป็นยานอวกาศลำแรกที่เดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจัน 7 ดวง เพื่อศึกษาจุดกำเนิดของดาวเคราะห์น้อยรวมไปถึงลงรายละเอียดถึงลักษณะพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย ตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยโทรจันแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม อยู่ในจุดที่เรียกว่า Lagrange ตำแหน่งที่มีระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวพฤหัสบดีเกือบเท่ากันส่งผลให้มีแรงโน้มถ่วงเกือบคงที่ ยานลูซี่เดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อย Donaldjohanson ในปี 2025 ดาวเคราะห์น้อยโทรจันดวงแรก 3548 Eurybates และ 15094 Polymele ในปี 2027 ดาวเคราะห์น้อย 11351 Leucus และ 21900 Orus ในปี 2028 ก่อนโคจรผ่านโลกอีกครั้งในปี 2031 เพื่อไปยังดาวเคราะห์น้อย 617 Patroclus-Menoetius ในปี 2033
ในการสำรวจดาวเคราะห์น้อย 617 Patroclus-Menoetius มีความสำคัญเนื่องจากดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวมีลักษณะเป็นดาวเคราะห์น้อยคู่ (Double Asteroids) ยานลูซี่จะทำการเข้าทดสอบเปลี่ยนวิถีวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยคู่ดังกล่าว การทดสอบเคลื่อนย้ายดาวเคราะห์น้อยในครั้งนี้มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ หากในอนาคตมีดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น ๆ เดินทางโคจรเข้าใกล้พุ่งชนโลกนักวิทยาศาสตร์จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากยานลูซี่ไปประยุกต์ใช้งานตามความเหมาะสม
การออกแบบและพัฒนายานอวกาศลูซี่นาซ่าได้ร่วมมือกับบริษัท Lockheed Martin บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีการบินและยานอวกาศ การประกอบชิ้นส่วนของยานอวกาศและการทดสอบทั้งหมดเสร็จสิ้นในช่วงปี 2020 โครงสร้างของยานมีขนาดประมาณ 15 เมตร ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ทรงกลมไว้ด้านข้างซ้ายขวาของยานเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้า ภายในตัวยานอวกาศบรรทุกอุปกรณ์สำรวจและทดลองด้านวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องสร้างภาพแบบแพนโครมาติก เครื่องสร้างแผนที่อินฟราเรดสเปกโตรสโกปี เครื่องวัดค่าซิลิเกต น้ำแข็งและสารอินทรีย์บนพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย
นอกจากบรรทุกอุปกรณ์ด้านวิทยาศาสตร์ยังมีการติดตั้งแผ่นทองคำซึ่งระบุข้อมูลเกี่ยวกับยานอวกาศลูซี่ วันเดือนปีที่ยานเดินทางจากโลก ตำแหน่งที่ตั้งวิถีวงโคจรของโลกในอวกาศ เนื้อเพลง Lucy in the Sky with Diamonds ของวง เดอะ บีทเทิลส์ ข้อความคำกล่าวสุทรพจน์ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์, บทกวีของคาร์ล เซแกน โดยจากการคำนวณยานอวกาศลำนี้จะโคจรอยู่ในระบบสุริยะจักรวาลไปอีกอย่างน้อยหลายพันปี แม้อารยธรรมมนุษย์บนโลกจะสูญสิ้นไปสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาในโลกอนาคตอาจสามารถเก็บกู้ยานอวกาศลำนี้และพบข้อมูลบนแผ่นทรงคำดังกล่าว
ข้อมูลจาก solarsystem.nasa.gov, theverge.com, nasa.gov
ภาพจาก Lucy Mission